จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ระดมความคิดเห็นพัฒนาขนส่งทางน้ำแบบบูรณาการ



เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ที่ห้องรายา โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เพื่อวางกลยุทธ์การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ โครงการ “การศึกษาวิเคราะห์เพื่อวางกลยุทธ์การพัฒนาการขนส่งทางน้ำโดยทบทวนการตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ซึ่งกรมเจ้าท่า ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้น 


โดยมี นางวิลาวรรณ ศิริงามเพ็ญ ผู้อำนวยการสำนักแผนงาน กรมเจ้าท่า นายวิชัย คำคง ผู้อำนวยการสำนักเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิสุทธิ์ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 ภูเก็ต ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูลและระนอง เข้าร่วม 


ทั้งนี้การสัมมนาในลักษณะดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นทั่วประเทศจำนวน 8 ครั้ง และได้จัดไปแล้วที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, เชียงใหม่, สมุทรสาคร, ชลบุรี, หนองคาย และสุราษฎร์ธานี โดยในส่วนของจังหวัดภูเก็ตเป็นครั้งที่ 7 และครั้งสุดท้ายจะจัดที่ส่วนกลาง คือ กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นจะได้นำสรุปผลการสัมมนา รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นที่สำคัญทุกครั้งมาจัดทำร่างแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำของกรมเจ้าท่า และกระบวนการโลจิสติกส์ทางน้ำของประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป 


นางวิลาวรรณ ศิริงามเพ็ญ ผู้อำนวยการสำนักแผนงาน กรมเจ้าท่า กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ตลอดจนปัจจัยที่ชักนำเพื่อก่อเกิดการปรับเปลี่ยนให้หันมาใช้รูปแบบการขนส่งทางน้ำและทางรางมากยิ่งขึ้น โดยพัฒนาในเส้นทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไปพร้อมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ท่าเรืออย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ ประหยัดพลังงานที่ภาคการขนส่งใช้ถึงร้อยละ 36 ลดอุบัติเหตุและภาวะมลพิษทางอากาศที่ทำให้เกิดคาร์บอนเครดิตส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนเป็นที่มาของสึนามิ มหาอุทกภัยและภัยแล้ง 


รวมทั้งเสียค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าสู่ประเทศอื่นเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเร่งรัดพัฒนาด้านการพาณิชยนาวี เช่น การผลิตนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ หลักสูตรระยะยาวปี 2555 ได้ 328 คน และหลักสูตรพิเศษได้ 8,310 คน มีการพัฒนาร่างกฎหมายของเจ้าท่า 12 ฉบับ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาของรัฐสภา 1 ฉบับ, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 2 ฉบับ และคณะกรรมการกลั่นกรองฯ 1 ฉบับ กรมเจ้าท่าพิจารณา 8 ฉบับ ส่วนกฏหมาย กฎ ระเบียบที่ดำเนินการในปี 2555 แล้วเสร็จ 7 ฉบับ สำหรับงานด้านอนุสัญญาต่างๆ ของ IMO เสร็จ 11 อนุสัญญา และอยู่ระหว่างเข้าเป็นภาคี 2 อนุสัญญา อีกทั้งร่างความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการขนส่งทางทะเล 10 ฉบับ ร่างความตกลงทวิภาคีเพื่อรองรับประกาศนียบัตรฯ 4 ฉบับ และความตกลงพหุภาคี 2 ฉบับ 


ส่วนการพัฒนาด้านพาณิชยนาวีมีกลไกสนับสนุนที่มีศักยภาพโดยคณะกรรมการระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ที่กลั่นกรองมาจากคณะทำงานเฉพาะเรื่องโดยมีการศึกษาแก้ไขปัญหา และกำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการเพิ่มกองเรือพาณิชย์ไทย การพัฒนาการขนส่งทางน้ำและชายฝั่งทะเล ท่าเรือ อู่เรือ การพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและเชื่อมโยง รวมทั้งกิจการด้านการพาณิชยนาวีซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จหลายเรื่อง เช่น รัฐสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อการต่อเรือไทย นอกจากนี้ยังมีงานด้านการรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยในการเดินเรือระหว่างประเทศ และการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานที่ประเทศไทยควรเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาเพื่อพัฒนาสู่มาตรฐานสากลและพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 


ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรมเจ้าท่า จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการ “ศึกษาวิเคราะห์เพื่อวางกลยุทธ์การพัฒนาการขนส่งทางน้ำโดยทบทวนการตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้เสีย” เพื่อศึกษาการผลักดันการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) ไปสู่การขนส่งทางน้ำ เพื่อศึกษาทบทวนกรอบและทิศทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำของกรมเจ้าท่าที่ผ่านมาเพื่อนำผลการดำเนินงานที่ผ่านมาศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาการขนส่งทางน้ำต่อไป ศึกษาความต้องการของประชาชนผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ได้รับผลกระทบครอบคลุมพื้นที่ในส่วนกลางและภูมิภาค 


เพื่อให้ได้มาซึ่งความเห็นและความต้องการที่แท้จริงของการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ตลอดจนเพื่อหาแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาการพัฒนาการขนส่งทางน้ำในภาพรวมของประเทศ โดยครอบคลุมพื้นที่ในส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งนำผลการศึกษาไปวางกลยุทธ์และพัฒนาการขนส่งทางน้ำที่จะเกิดความชัดเจนทั้งผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ที่จะช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องสอดคล้องตามความต้องการของผู้รับบริการละผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นางวิลาวรรณกล่าว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น