จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

สสจ.เน้นย้ำมาตรการ “5 ป. 1 ข.” ป้องกันไข้เลือดออก



นายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกระดับประเทศในปีนี้คาดว่าจะมีความรุนแรง โดยข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 มีนาคม 2556 พบผู้ป่วยทั่วประเทศจำนวน 14,653 ราย เสียชีวิต 19 ราย เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,000 – 1,500 ราย ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2555 ถึง 4 เท่าตัว 


โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน และวัยเรียน ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 22 มีนาคม 2556 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันไข้เลือดออก จำนวน 77 ราย อัตราป่วย 22.31 ต่อแสนประชากร ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยกระจายทุกอำเภอและเกือบทุกตำบล อำเภอกะทู้มีอัตราป่วยสูงสุด โดยเฉพาะเขตพื้นที่ตำบลกะทู้ ผลการสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลาย พบมีลูกน้ำยุงลายในภาชนะน้ำขังในบ้านและบริเวณบ้านทุกพื้นที่ แสดงถึงว่าภายในบ้านของประชาชนมียุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก 


จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต จึงขอความร่วมมือหน่วยงาน ชุมชน และทุกภาคส่วน รณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มแข็ง ก่อนถึงช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลระบาด โดยเร่งสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้าน โรงเรียน ชุมชน ตามมาตรการ “5 ป. + 1 ข. ปราบยุงลาย” ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ 1.ปิด…ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่, 2.เปลี่ยน…เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง, 


3.ปล่อย…ปล่อยปลาหางนกยูงหรือปลากินลูกน้ำ ลงในอ่างบัวหรือที่กักเก็บน้ำไม่มีฝาปิด, 4.ปรับ…ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย, 5.ปฏิบัติ…ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และ อีก 1 ข. ได้แก่ ขัด...ขัดภาชนะที่ใช้กักเก็บน้ำ เพื่อทำลายไข่ยุงลายที่เกาะติดกับภาชนะน้ำขังต่างๆ 


นอกจากนี้ประชาชนต้องป้องกันตนเองไม่ให้ยุงลายกัดทั้งคนปกติและคนป่วย โดยการนอนในมุ้ง การใช้ยาทากันยุง หรือใช้กลิ่นของสมุนไพรไล่ยุง เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น สำหรับที่น่ากังวลขณะนี้ พบว่า ประชาชนยังเข้าใจว่าการกำจัดยุงลายโดยวิธีพ่นเคมีตามรอบๆ บ้าน ท่อระบายน้ำต่างๆ ทำให้ยุงตายหมด ซึ่งแท้จริงแล้ววิธีการดังกล่าวเป็นการเอื้อให้เกิดปัญหายุงดื้อยา ยุงที่ตายส่วนใหญ่เป็นยุงรำคาญไม่ใช่ยุงลาย การใช้สารเคมีพ่นมีความจำเป็นเฉพาะในกรณีที่พบผู้ป่วยในบ้าน 


ซึ่งจะเป็นการฆ่ายุงลายไม่ให้ไปกัดคนอื่นอีก และประการสำคัญ หากสงสัยว่าบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอยเกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เบื่ออาหาร อาเจียน มีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาแก้ไข้ปวดเมื่อย เพราะจะทำให้มีเลือดออกในอวัยวะภายใน อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น