จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

ราชภัฏโซนภาคใต้ Workshop เครือข่ายหอสมุดฯ



เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556 ที่ห้องสัมมนามหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต นายดิสัน แหล่ทองคำ รองอธิการบดีมหาวิทยาราชภัฎภูเก็จ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่ายสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภูมิศาสตร์ภาคใต้” ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น 



เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติแก่บุคลากรทุกระดับ เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรทุกด้านของหอสมุด กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ของอาจารย์ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการ สร้างฐานความรู้ รองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ โดยมีผู้บริหารและบุคลากรจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี และภูเก็ต เข้าร่วม 


นางอมรรัตน นาคะโร ผู้อำนวยการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า ด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้รับเกียรติจากเครือข่ายสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภูมิศาสตร์ภาคใต้ เป็นเจ้าภาพในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภูมิศาสตร์ภาคใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการ การพัฒนาการปฏิบัติงาน การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการจัดกิจกรรมร่วมกัน 


ทั้งนี้มีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการบรรยายวิชาการ เกี่ยวกับการบริการยุคใหม่ทันใจผู้ใช้บริการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เล่าสู่กันฟัง จากฉันถึง” การศึกษาดูงานแหล่งสารสนเทศในจังหวัดภูเก็ต และกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ โดยคาดหวังว่า นอกจากจะเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเครือข่ายด้วยกันแล้ว ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของการให้บริการในทุกรูปแบบของห้องสมุด เพราะการที่เรามีแหล่งเรียนรู้ที่ดี น่าสนใจ และมีคุณภาพ ทั้งบุคลากรและทรัพยากร จะเป็นการกระตุ้นผู้ใช้บริการเกิดความต้องการเข้ามาใช้บริการมากขึ้น นั่นเป็นเป้าหมายแรกของการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ 


และประเด็นที่สำคัญจริงๆ ของการพัฒนาด้านการบริการและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ การที่มีบุคคลสนใจศึกษาหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ของห้องสมุด ซึ่งจะทำให้บุคคลเหล่านั้นเกิดการพัฒนาด้านความรู้ ความคิดของตัวบุคคล ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาเครือข่ายฯ คือ การหาแนวทางร่วมกันที่จะส่งเสริม กระตุ้น ผลักดันให้หอสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มีผู้สนใจเข้าหาความรู้ให้มากขึ้น และเกิดการเรียนรู้ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม 


เช่น การมีองค์ความรู้ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีความรู้อย่างน้อยที่สุด ความรู้เบื้องต้น เช่น ธงประจำชาติ ภาษา การแต่งกาย วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ฯลฯ เหล่านี้คือหน้าที่ของแหล่งความรู้อย่างหอสมุดที่จะต้องร่วมกันตระหนักและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะสังคมมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ถ้าเราตามไม่ทัน เราก็ไม่สามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น นางอมรรัตนกล่าว 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น