จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เตรียมใช้ยาแรงล้างบางอิทธิพลไทยและต่างชาติ



เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยนายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 


และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบและหารือกับเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคเกี่ยวกับปัญหารถรับจ้าง (แท็กซี่ )ที่มีลักษณะเป็นกลุ่มผู้มิอิทธิพลข่มขู่และทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวและการดำเนินการกับตัวแทนถือครองหลักทรัพย์(นอมินี) 


โดยจุดแรกได้มีการประชุมร่วมกับท่าอากาศยานภูเก็ต และสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับทราบมาตรการหรือแนวทางจัดการกับปัญหาเกี่ยวกับรถรับจ้างที่มีลักษณะเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิข่มขู่และทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยว รวมถึงได้รับทราบปัญหาที่อาจจะบูรณาการเพื่อแก้ไขร่วมกัน โดยมีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายประเทือง ศรขำ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมนำเสนอและชี้แจงรายละเอียด 


หลังจากนั้นได้เดินทางไปประชุมร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดภูเก็ต สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามัน ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมี น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายจำเริญ ทิพยพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงข้อมูลและแนวทางการแก้ปัญหา 


ซึ่งก่อนการประชุมได้มีกลุ่มตัวแทนผู้ประกอบการรถ 4 ล้อเล็กหรือตุ๊กตุ๊กในพื้นที่ป่าตอง กะรน กมลา นำโดยนายสากล ศรีสมโภชน์ ได้เข้ามายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ช่วยตรวจสอบแก้ไขปัญหาตุ๊กตุ๊กป้ายดำ ทำงานแย่งอาชีพผู้ประกอบการรถถูกกฎหมายในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของภูเก็ต 


นายสมศักย์ กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีภารกิจในการกระตุ้นการท่องเที่ยว และมีเป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 2.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2558 นี้ ซึ่งการจะเกิดรายได้ตามเป้าหมายนั้น จะต้องมีการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับรถรับจ้าง ซึ่งมีกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ภูเก็ตที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่นักท่องเที่ยวและนับวันจะรุนแรงมากขึ้น 


โดยทางกระทรวงฯ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการในพื้นที่ และเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และขอให้จัดการขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ ทางกระทรวงฯ จึงได้หารือและยื่นหนังสือต่อทางดีเอสไอ ให้ลงมาดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากสำเร็จก็จะเกิดผลดีกับการท่องเที่ยว ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ได้สั่งการให้บูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ โดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยว” หรือ ศอ.ปท. ขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นแห่งแรก และตามมาด้วยพัทยา 


นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับการมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ และมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบใน 2 ส่วน คือ การปราบปรามผู้มีอิทธิพลซึ่งอยู่ในกรอบอำนาจของกฎหมายและเรื่องของการกระทำความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย ซึ่งจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่า 


ภูเก็ตมีปัญหาอาชญากรรมอยู่ 2 ส่วน คือ คนไทยตั้งเป็นแก๊งมาเฟีย โดยเฉพาะรถแท็กซี่ป้ายดำ แม้ท่าอากาศยานภูเก็ตจะดูแลในส่วนของภายในท่าอากาศยานฯ แต่เมื่อออกไปรอบนอกก็จะมีแก็งค์มาเฟียเหล่านี้ คอยเข้ามาข่มขู่นักท่องเที่ยว บางครั้งถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ที่สำคัญแก๊งเหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะบริเวณสนามบินเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงบริเวณโรงแรมชื่อดังต่าง ๆ การตั้งเป็นซุ้มไม้ไผ่รวมตัวกันให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยว 


หากมีรถที่นอกเหนือจากในกลุ่มก็ไม่สามารถมาให้บริการได้ และมีข้อมูลว่าขนาดรถที่จะเข้าไปรับผู้ป่วยก็ยังถูกกีดกันจากแท็กซี่กลุ่มนี้ไม่ยอมให้เข้าไปรับ จนทำให้กลายเป็นเรื่องเสื่อมเสียสร้างความเสียหายให้กับจังหวัด ซึ่งมีด้วยกันประมาณ 15 กลุ่ม แต่ด้วยเป็นปัญหาเรื้อรัง และหากยังคงปล่อยไว้ก็จะแก้ไขได้ยากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเข้ามาบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจัง 


อีกปัญหา เป็นเรื่องของมาเฟียชาวต่างชาติ ซึ่งมีหลายชาติด้วยกันทั้งรัสเซีย จีนและเกาหลี โดยใช้คนไทยเป็นนอมินี จากข้อมูลพบว่ามีอยู่หลานแก็งค์ด้วยกัน และคนไทยบางรายเป็นกรรมการในบริษัทถึง 200 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว มีการสร้างเครือข่ายการถือครองที่ดินและครอบครองทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน หากปล่อยเอาไว้จะกลุ่มต่างชาติเหล่านี้จะกลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรง 


โดยดีเอสไอจะร่วมกับ ปปง. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพราะการดำเนินคดีแบบทั่วไปไม่สามารถที่จะทำให้เข็ดหลาบได้ ดังนั้นทางเจ้าหน้าที่จะนำกฎหมายการฟอกเงินเข้ามาบังคับใช้ เพราะคดีนี้ถือเป็นการฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ หรือกรรโชกทรัพย์ ซึ่งจะมีความผิดมูลฐานของกฎหมายฟอกเงิน ที่ทางดีเอสไอมีอำนาจรับผิดชอบอยู่ด้วย 


ทั้งนี้นายธาริต กล่าวถึงการแก้ไขปัญหา ว่า จะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน 4 ฝ่าย ประกอบด้วยกระทรวงท่องเที่ยวฯ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, จังหวัดภูเก็ตและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ตำรวจภูธรและตำรวจท่องเที่ยวในพื้นที่ และตำรวจภูธรในแต่ละท้องที่ โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยว หรือ ศปอท. เบื้องต้นจะเริ่มที่ จ.ภูเก็ต กับพัทยา จ.ชลบุรี 


โดยจะมีการตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ทั้ง 4 ฝ่าย ร่วมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในส่วนของภูเก็ตจะตั้งอยู่ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภายในสนามบินภูเก็ต และอีกจุดจะอยู่ภายในตัวเมืองภูเก็ต ซึ่งยังอยู่ระหว่างการหาพื้นที่ในการจัดตั้ง ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าวจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการหลังจากนี้อีก 15 วัน 


อย่างไรก็ตามนายธาริต กล่าวถึงการดำเนินการกับกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำที่ทำตัวเป็นมาเฟีย ว่า จะต้องบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดและเต็มรูปแบบ ซึ่งมีด้วยกัน 3 ฉบับ คือ กฎหมายอาญา การกรรโชกทรัพย์ กฎหมายอาญา อั้งยี่และซ่องโจร และการดำเนินการในความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งจะต้องมีการยึดทรัพย์ตามมาด้วย เชื่อว่าหลังจากมีการประกาศตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวแล้ว 


เชื่อว่าจะมีผู้ต้องการท้าทายการทำงานของศูนย์ฯ ก็คงได้เจอกันอย่างแน่นอนหลังจากนี้ 15 วัน ส่วนผู้ที่คิดว่าตัวเองกำลังทำผิดและไม่ต้องการให้เกิดปัญหาตามมาก็ควรจะหยุดเสียก่อน ยืนยันว่าจะทำแบบขุดรากถอนโคน และทำคู่ขนานกันไปทั้งในกลุ่มที่เป็นคนไทยและต่างชาติ เพราะเชื่อว่าทั้งในส่วนของต่างชาติหรือแท็กซี่ป้ายดำคงไม่สามารถทำตัวเป็นมาเฟียได้มากขนาดนี้ หากไม่มีผู้มีอิทธิพลหรือผู้นำท้องถิ่นหนุนหลังเพราะจากข้อมูลพบว่า บางกลุ่มมีนักการเมืองหนุนหลังอยู่ 


ในส่วนของการรับมือกับม็อบที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น นายธาริต กล่าวว่า จะต้องมีการทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการกับผู้ที่กระทำความผิด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนร่วม และในการบังคับใช้กฎหมายก็จะดำเนินการอย่างเสมอภาค หากจะมีม็อบมาแบบไม่ถูกต้องก็พร้อมที่จะมีการดำเนินการตามกฎหมายเช่นเดียวกัน 


นอกจากนี้ทราบว่าเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ประสานไปยังกระทรวงยุติธรรมในการขอออกกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองนักท่องเที่ยวขึ้น ซึ่งจะใช้ต้นแบบของประเทศฝรั่งเศส และถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายลักษณะเช่นนี้ และเชื่อว่าน่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย


อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมหารือร่วมกับภาคส่วนต่างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วทางคณะทั้งหดได้ลงพื้นที่บริเวณสวนสาธารณะโลมา หาดป่าตอง อ.กะทู้ เพื่อตรวจสภาพข้อเท็จจริง รวมถึงสอบถามข้อมูลต่างๆ กับผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว โดยมีนายวีระ เกิดสิริมงคล นายอำเภอกะทู้ , พ.ต.อ.จิรภัทร โพธิ์ชนะพันธ์ ผกก.สภ.กะทู้ ตลอดจนตัวแทนจากเทศบาลเมืองป่าตอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูล 


โดยเฉพาะปัญหาการใช้พื้นที่บริเวณชายหาด ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีการนำเตียงและร่มผ้าใบมาจัดวางไว้เป็นจำนวนมากจากที่เคยมีข้อตกลงไว้ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สะดวกในการขึ้นชายหาด รวมไปถึงปัญหาที่จอดรถสาธารณะ เนื่องจากส่วนหนึ่งถูกรถเช่านำไปใช้เป็นที่จอดรถเพื่อทำธุรกิจบริการให้เช่า ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น