จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

“ปราบ กี่สิ้น” ปฎิเสธไม่ใช่มาเฟีย พร้อมให้ตรวจสอบ



สืบเนื่องจากกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้เปิดเผยรายชื่อผู้มีส่วนพัวพันกับรถแท็กซี่ป้ายดำบางส่วน และบางรายมีผลประโยชน์ทางด้านการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ในการประชุมและวางแนวทางการแก้ปัญหานักท่องเที่ยวของศูนย์ปฏิบัติร่วมเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยว (ศปอท.) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต 


นายปรีชาวุฒิ กี่สิ้น หรือ ปราบ หนึ่งใน 11 รายชื่อ ที่ถูกระบุว่า เป็นผู้ที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังกลุ่มรถแท็กซี่ป้ายดำฯ ได้ชี้แจง ว่า ค่อนข้างตกใจ และไม่เข้าใจว่าไปมีชื่ออยู่ได้อย่างไร แต่คิดว่าพอเข้าใจได้ จริงๆ แล้วก่อนที่จะมีการมาเปิดเผยรายชื่อน่าจะมีการมาพูดคุยสอบถามข้อเท็จจริงกันบ้าง ซึ่งตนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และให้ตรวจสอบการทำงานในการจัดระเบียบรถแท็กซี่ป้ายดำหรือคิวรถในป่าตองได้ว่าเป็นอย่างไร 

“ต้องย้อนไปในอดีต เดิมตนทำรถลีมูซีนอยู่ แต่ได้มีทางโรงแรมหลายแห่งและห้างจังซีลอนป่าตอง ขอให้เข้าไปช่วยจัดระบบรถแท็กซี่บริเวณหน้าโรงแรมและห้างดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากตนเป็นคนในพื้นที่ป่าตองและมีแนวทางการแก้ปัญหารถแท็กซี่ต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ โดยจัดให้มีการลงทะเบียนกลุ่มที่ให้บริการ มีการจัดคิว จัดอบรมให้ความรู้ และจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เพื่อให้สามารถขอจดทะเบียนป้ายได้ถูกต้อง และคนขับต้องมีใบอนุญาตขับขี่ หากไม่มีการนำไปอบรม เพื่อให้ผุ้ให้บริการรถแท็กซี่เหล่านั้นมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ขณะเดียวกันก็ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด และได้รับการขอร้องให้เข้าไปจัดระเบียบโดยใช้ระบบของเอกชน เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ซึ่งดำเนินการแก้ปัญหามาได้ระดับหนึ่งแล้ว จนฝ่ายปกครองได้ให้มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์คอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้โอกาสรถแท็กซี่เหล่านั้นได้ทำมาหากิน รวมทั้งสามารถตรวจสอบได้” 

นายปรีชาวุฒิ กล่าวด้วยว่า สำหรับป้ายดำซึ่งเป็นตัวบุคคล เมื่อมีการจัดระเบียบ ได้มีการกำหนดการแต่งกายมียูนิฟอร์มแบเดียวกัน คนขับมีใบอนุญาตขับขี่ มีป้ายแสดงราคาค่าโดยสารที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งยังได้ประสานกับขนส่งจังหวัดภูเก็ตนำผู้ประกอบการรถแท็กซี่เหล่านั้นไปสอบใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ รวมทั้งอบรมการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริการและภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้ง่ายๆ จนสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง 

“เรื่องผลประโยชน์ที่มองว่ามีมาก นั้น ความจริงแล้วกรณีคิวห้างจังซีลอน ได้มีการเช่าพื้นที่ในการนำรถไปจอด และมีการเรียกเก็บเงินเพียงเล็กน้อยกับผู้ที่มาเข้าคิว เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ และนำเข้าสหกรณ์ฯ เพราะการทำแท็กซี่ป้ายดำไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ แต่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการพัฒนาการให้บริการที่ดีขึ้น ยอมรับว่ามีปัญหาคิวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ซึ่งก็พยายามพูดคุยเพื่อให้เข้าสู่ระบบ และงานมวลชนต้องใช้เวลา” 


นายปรีชาวุฒิ กล่าวด้วยว่า อาจเป็นเพราะการทำงานมวลชนและเป็นนักกิจกรรมดังกล่าวมาตลอด ทำให้รู้จักคนในวงกว้าง ตลอดระยะเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมา จึงถูกมองว่า เป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำ และเป็นผู้กว้างขวางในพื้นที่ป่าตอง ซึ่งไม่แน่ใจคำว่าผู้มีอิทธิพลของดีเอสไอ หมายถึงจุดนี้หรือไม่ แต่หากในประเทศไทยผู้ที่เป็นนักกิจกรรมในลักษณะแบบนี้ วันหนึ่งกลายเป็นผู้มีอิทธิพล ก็ต้องรู้สึกน้อยใจบ้างเป็นธรรมดา เพราะที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่ได้เข้ามาศึกษาดูงานหลายครั้ง เพื่อนำไปเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำอื่นๆ แม้ว่าอาจจะยังไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาในส่วนของตัวรถ โดยหวังว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะได้ให้ไปขอป้ายเขียวให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเราอยากทำอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตามนายปรีชาวุฒิ กล่าวอีกว่า อยากขอความเป็นธรรมจากดีเอสไอด้วย และอยากให้ย้อนมองข้อมูลในอดีตจนถึงปัจจุบันว่าใครทำอะไร แบบไหน และใครที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่หากทำไปแล้วถูกกล่าวว่าเป็นผู้มีอิทธิพล สิ่งที่ทำมาก็เหมือนสูญเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนที่จะประกาศอะไรออกไปควรที่จะสอบถาม ข้อเท็จจริงหรือสอบถามให้แน่ชัดก่อน ควรเป็นผู้ใหญ่มากกว่านี้ ไม่ใช่มาประกาศผ่านสื่อ หากตรวจสอบแล้วผิดจริงตนก็พร้อมที่จะไปร่วมแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ซึ่งการทำในแบบนี้ของดีเอสไอเหมือนเป็นการตัดตนออกไปในการทำงานในลักษณะแบบนี้ในป่าตอง เพราะเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร ทำไปก็เจ็บตัวเปล่า และเชื่อว่านักกิจกรรมสังคมหลายๆ คนก็คงจะไม่มีใครที่กล้าร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหาต่างๆ 

“การที่มีนักท่องเที่ยวอาจจะร้องเรียนเกี่ยวกับแท็กซี่ป้ายดำเข้ามา แต่ก็ต้องถามว่า กลุ่มไหนที่สร้างปัญหาต้องจัดการให้ถูกกลุ่มให้ถูกจุด กรณีกลุ่มที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์ มีการลงทะเบียนถูกต้อง กำหนดราคาที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน กลุ่มนี้หรือเป็นมาเฟีย แล้วกรณีกลุ่มที่อยู่ตามที่สาธารณะต่างๆ ไม่มีข้อมูลอะไรเลย จะเรียกว่าอะไรล่ะ และหากป่าตองมีมาเฟียจริง รถโดยสารสาธารณะเส้นทางจากสนามบินจะมาวิ่งในป่าตองได้อย่างไร แต่เพราะป่าตองไม่มีมาเฟียมีแต่คนที่ตอบสนองนโยบายของรัฐ เพื่อทำให้การท่องเที่ยวมีภาพลักษณ์ที่ดี ถ้าจะมีก็เป็นการห่วงพื้นที่ในการทำมาหากินเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น ซึ่งสามารถที่จะจัดระเบียบได้” 

ส่วนกรณีที่ดีเอสไอระบุว่า มีการไปค้ำประกันรถแท็กซี่ป้ายดำถึง 200 คัน นายปรีชาวุฒิ ชี้แจงว่า คงไม่มีใครที่ไหนจะไปค้ำประกันรถได้ถึง 200 คัน ซึ่งตนพร้อมให้ตรวจสอบ เพราะตนมีรถแค่ 2 คันเท่านั้น และคงไม่สามารถค้ำประกันให้ใครได้ เนื่องจากตนต้องใช้เครดิตในการทำธุรกิจอยู่หลายอย่าง ก็อยากฝากไว้และขอความเป็นธรรมให้ตนด้วย เพราะไม่แน่ใจเหมือนกันว่าระหว่างผู้รับกับผู้ให้ใครกันแน่ที่เป็นมาเฟีย 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น