จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ล้อมคอกรอบใหม่จัดระเบียบช้างในภูเก็ต



เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ที่ห้องประชุมชั้น 3 เทศบาลนครภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต เป็นประธานการประชุม การจัดระเบียบช้างในจังหวัดภูเก็ต เพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติตามความเหมาะสม หลังจากทางจังหวัดภูเก็ตได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจปางช้างหลายกรณี โดยเฉพาะมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม 


โดยมีนายวีรสิฐ พุฒิไพโรจน์ ปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ต, นายสาธิต กลิ่นภักดี ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต, นายกำธร เจริญวนันท์ ปฎิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต, นายพงษ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาพระแทว ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจปางช้าง สวนสัตว์และการแสดงเข้าร่วม 


นายศุภชัย กล่าวว่า ด้วยจังหวัดภูเก็ตได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจปางช้างหลายกรณี โดยเฉพาะมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะซึ่งมีพื้นที่ในการเลี้ยงช้างจำกัด ทำให้จังหวัดต้องออกประกาศจังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2542 เรื่อง กำหนดมาตรการในการควบคุมดูแลช้างในจังหวัดภูเก็ต ทั้งการควบคุมปริมาณช้างในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 


ตลอดจนการเลี้ยงช้างจะต้องเป็นไปตามสุขลักษณะตามธรรมชาติของช้างให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และอยู่อย่าง ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เพื่อให้ส่วนที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อหาแนวทางถือปฏิบัติตามความเหมาะสมรองรับธุรกิจการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนตามสภาพของสิ่งแวดล้อมภายในจังหวัด ไม่กระทบ กระเทือนที่อยู่ของชุมชน การท่องเที่ยวและการประกอบธุรกิจ 


อย่างไรก็ตามได้มีการสำรวจจำนวนช้างของผู้ประกอบการปางช้างที่เข้าร่วมประชุม ได้ข้อสรุปว่า ปัจจุบันในจังหวัดภูเก็ต มีปางช้างจำนวน 26 ปาง มีช้างรวม 216 เชือก อยู่ในเขตพื้นที่ อ.เมืองภูเก็ต จำนวน 16 ปาง มีช้างรวม 153 เชือก อ.กะทู้ จำนวน 5 ปาง มีช้างรวม 48 เชือก และ อ.ถลาง จำนวน 5 ปาง มีช้างรวม 15 เชือก ทั้งนี้ได้มีการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับประกาศจังหวัดภูเก็ต เรื่อง กำหนดมาตรการในการควบคุมดูแลช้างในจังหวัดภูเก็ต และกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 ฉบับ 


อาทิ พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ พ.ศ.2482, พ.ร.บ. สาธารณสุข พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เป็นต้น นอกจากนี้ยังไดมีการพิจารณา เกี่ยวกับการจัดระเบียบช้างกรณีปริมาณช้างที่ขึ้นทะเบียน กรณีช้างป่วย การทดแทนช้างอายุมาก การเปลี่ยนช้างเข้ามาใหม่ กรณีช้างเสียชีวิตและขอนำเข้ามาใหม่ กรณีปางช้างเกิดใหม่ การให้ใบรับรองผู้ประกอบการธุรกิจช้างที่ดี และการจัดตั้งชมรมช้างเพื่อการท่องเที่ยว


ทั้งนี้จากการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยในส่วนของตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ได้ขอให้ผู้ประกอบการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่กำหนด ทั้งการใช้ช้างที่มีการจดทะเบียนถูกต้อง การมีพื้นที่ให้ช้างอยู่อย่างเพียงพอและไม่บุกรุกที่ดินของรัฐ เพราะปัจจุบันพบว่ามีปางช้างบางรายที่มีการตั้งปางช้างอยู่ในที่ดินของรัฐซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด 


ส่วนของการกำหนดมาตรฐานการให้บริการของธุรกิจปางช้างนั้นจะได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการอีกครั้ง รวมทั้งจะมีการประชุมรอบนอกในการนำเสนอรูปแบบหรือความต้องการของผู้ประกอบการ การเพิ่มหรือจำกัดปริมาณช้างหรือปางช้างเกิดใหม่ รวมถึงการหารือเกี่ยวกับการตั้งชมรมผู้ประกอบการช้างเพื่อการท่องเที่ยว ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น