จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

“ประชา” ติดตามการรักษาความปลอดภัยนทท.



เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2556 ที่ห้องประชุมพระพิทักษ์แกรนด์บอลรูม โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมเร่งรัดการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และการจัดระเบียบพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งนี้เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการจัดระเบียบพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่และสุราษฎร์ธานี รวมทั้งมอบนโยบายการทำงานตามนยาบรัฐบาลในการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว 


โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง สบ.10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ผบช.ภ.8 พล.ต.ต.รอย อิงคไพโรจน์ ผบก.ทท.ตลอดจนผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ภูเก็ต,พังงา, กระบี่, สุราษฎร์ธานี, ผบกป.ทท., ตม.6, หัวหน้า สภ.ทุกแห่ง ในสังกัด ภ.จว.ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, หัว สภ.สมุย และสภ.บ่อผุด จ.สุราษฎร์ธานี,หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, ท่องเที่ยว, ตำรวจน้ำ, ทางหลวง,ตำรวจตะเวนชายแดนภาค 4, รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ขนส่งจังหวัด จัดหาหางานจังหวัด เจ้าท่า พาณิชย์จังหวัด เป็นต้น ทั้ง 4 จังหวัดเข้าร่วม 


ทั้งนี้ได้มีการรายงานสถานการณ์ท่องเที่ยวของทั้ง 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ซึ่งพบว่าจะมีปัญหาไม่แตกต่างกันมากนัก เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นปัญหาต่างๆ ก็ตามมา ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอรองรับ ปัญหาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว (มัคคุเทศก์) ไม่เพียงพอ ปัญหาการหลอกลวงนักท่องเที่ยว และอื่นๆ ตลอดจนการดำเนินการตามคำสั่งปฏิบัติการจัดระเบียบพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ, สถานภาพอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว แรงงานต่างด้าว และปัญหาชาวโรฮิงญา ตลอดจนปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานต่างๆ 


พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปของจังหวัดต่างๆ ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมากก็จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามามากขึ้นตามไปด้วย และจะทำให้มีงบประมาณในการนำไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศในต่างๆ ต่าง เช่น เศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น ได้มากขึ้น และการที่นักท่องเที่ยวจะตัดสินใจเดินทางเข้ามานั้น นอกจากความสวยงามสมบูรณ์ของธรรมชาติแล้ว ก็จะมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของความปลอดภัย สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนั้นๆ ได้อย่างมีความสุข 


ดังนั้นสิ่งที่อยากฝากไว้ในการปฏิบัติ เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล คือ การดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับนักท่องเที่ยว เมื่อเข้ามาท่องเที่ยวแล้วสามารถพักผ่อนได้อย่างมีความสุข ในด้านบริการดูแลนักท่องเที่ยว กรณีเข้าไปใช้บริการของสถานีตำรวจต่างๆ ก็ควรจะเป็นลักษณะแบบวันสต็อบเซอร์วิส และมีเอกสารประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ รวมถึงการจัดให้มีล่ามประจำสถานี 


ขณะเดียวกันก็จะต้องดูแลในส่วนของผู้ประกอบการด้วย เพื่อเสริมให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น เพราะปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ สำคัญจะต้องช่วยคลี่คลายปัญหาไม่ใช่ซ้ำเติม เพื่อประคับประคองไปด้วยกันให้ได้ แต่ก็ยอมรับความทุกสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดี ดังนั้นผู้บังคับบัญชาจะต้องมีการควบคุมดูแล และวางคนในการใช้งานให้เหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวหลักจะต้องใช้คนที่มีความรู้ด้านภาษามาช่วยงาน


อย่างไรก็ต้องยอมรับว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ในแต่ละสังคมซึ่งมีทั้งคนดีและไม่ดี มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป หรือที่เรียกว่าผู้มีอิทธิพลกลุ่มอาชีพต่างๆ ดังนั้นในส่วนของตำรวจก็จะต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งที่ดีและไม่ดี ข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ และข้อมูลของหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อประโยชน์ในการประสานงานหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หัวหน้าหน่วยงานจะต้องดำเนินการ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารงานทั้งภายในองค์กร และภายนอกองค์กร เพื่อประโยชน์ในภาพรวม พล.ต.อ.ประชากล่าว 


พล.ต.อ. ประชา ยังกล่าวถึงเรื่องการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือ CCTV ว่า มีความสำคัญในการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยดูแลรักษาความปลอดภัย ไม่เฉพาะกับนักท่องเที่ยวเท่านั้นแต่รวมถึงในส่วนของประชาชนทั่วไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่าการจับกุมคนร้ายในหลายคดีได้ข้อมูลจากกล้องวงจนปิดซึ่งสามารถให้รายละเอียดและข้อมูลที่เที่ยงตรง 


ดังนั้นจะต้องมีการติดตั้งโดยเฉพาะในจุดท่องเที่ยวสำคัญ รวมทั้งการประสานกับทางภาคเอกชนซึ่งมีขีดความสามารถในการลงทุนอยู่แล้ว เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น เพราะจะเป็นประโยชน์กับการทำงานเป็นอย่างมาก และให้ทางแต่ละจังหวัดได้เสนอของบประมาณไปยังทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตนพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ 


ในเรื่องการจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยว นั้นทราบว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการดำเนินการออกแผนปฏิบัติเป็นขั้นตอนที่ดีอยู่แล้ว ก็ขอให้ปฏิบัติตามนั้น รวมทั้งนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่อยากเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดกับผู้บังคับการ ที่ควรจะทำงานควบคู่กันไป เดินไปด้วยกันและพูดภาษาเดียวกันซึ่งจะทำให้การทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีความสมบูรณ์มากขึ้น 


เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับม็อบต่างๆ นั้น ทางกระทรวงมหาดไทยก็มีข้อสั่งการอย่างชัดเจนว่า หากมีการรวมตัวกัน และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นก็สามารถทำได้ แต่หากทำผิดกฎหมายก็ให้พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นม็อบการเมืองต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ นอกจากนี้ในการกระทำการใดๆ ก็อย่าไปซ้ำเติมประชาชนที่เขาเดือดร้อนอยู่แล้วให้เดือดร้อนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ลงมาทำงานในพื้นที่ นอกจากจากตำรวจในพื้นที่แล้ว ยังมีตำรวจท่องเที่ยว ดีเอสไอ หรือหน่วยอื่นๆ และจะต้องยึดเกียรติยศและศักดิ์ศรีของหน่วยงานไว้ให้ได้ 


ขณะที่เรื่องของแรงงานต่างด้าวก็ยังถือว่ามีความจำเป็น เพราะมีบางงานที่คนไทยไม่ทำ เราก็ต้องให้แรงงานเหล่านี้ เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยึดหลักกฎหมายด้วย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมสมดุล เพราะมีขั้นตอนปฏิบัติอยู่แล้ว ส่วนปัญหาโรฮิงญา แม้ว่าเราไม่อยากจะรับไว้ แต่ด้วยมนุษยธรรมก็จำเป็นที่จะต้องดูแลคนเหล่านี้ 


ฉะนั้นในสถานกักใดที่มีปัญหาเรื่องของความแออัดก็ขอให้หาพื้นที่ในการกระจายเพื่อลดปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อเขาอยู่กันมากๆ ก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องของโรคติดต่อต่างๆ รวมไปถึงปัญหาการพยายามหลบหนี ดังนั้นควรจะมีการจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจสุขภาพบ้าง 


สุดท้าย พล.ต.อ.ประชา กล่าวฝากด้วยว่า เนื่องจากในปี 2558 เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในเรื่องของภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพื่อให้สามารถพูดคุยหรือสื่อสารเบื้องต้นได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น