จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สะพานสารสิน 2 คืบหน้าแล้ว 44%


นายธีรยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยสะพานสารสินเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดภูเก็ต ตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 เป็นสะพานขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 360 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2510 ต่อมาในปี พ.ศ.2535 จากปริมาณจราจรคับคั่งประกอบกับเรือประมงหรือเรือท่องเที่ยวชนสะพานบ่อยครั้งอันเนื่องจากมีช่องลอดใต้สะพานต่ำ กรมทางหลวงจึงได้ก่อสร้างสะพานท้าวเทพกระษัตรี ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 650 เมตร ขนานกับสะพานสารสิน โดยใช้สะพานท้าวเทพกระษัตรีเป็นฝั่งขาเข้าและสะพานสารสินเป็นฝั่งขาออกจังหวัดภูเก็ต ประกอบกับปัจจุบันปริมาณจราจรได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงสภาพความชำรุดทรุดโทรมของสะพานสารสินที่ไม่อาจซ่อมแซมให้สมบูรณ์ได้ กรมทางหลวงจึงได้ออกแบบสะพานแห่งใหม่เป็นสะพานยกระดับข้ามทะเลคู่ขนานกับสะพานสารสินเดิม และสะพานท้าวเทพกระษัตรี พร้อมกันนี้ให้ยกเลิกการใช้สะพานสานสินเดิม โดยรื้อช่วงสะพานเดิมออกแล้วก่อสร้างเป็นสะพานลอยคนเดินข้าม และศาลาพักผ่อนชมทิวทัศน์เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงด้วย

“สำหรับการก่อสร้างสะพานสารสิน 2 ได้เริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 และจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 20 มิถุนายน 2554 ใช้งบประมาณก่อสร้าง จำนวนประมาณ 377.999 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วยงานก่อสร้างสะพาน ขนาด 2 ช่องจราจร โดยมีผิวจราจร กว้าง 12.20 เมตร ความยาวช่วงสะพาน 655.05 เมตร และถนนเชิงลาดฝั่งภูเก็ตยาว 560 เมตร ฝั่งท่านุ่น ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ยาว 510 เมตร รวมระยะทางประมาณ 1.725 กิโลเมตร กับงานรื้อสะพานสารสินเดิม และก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามพร้อมกับศาลาพักผ่อนชมทิวทัศน์ โดยออกแบบให้สอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรมของจังหวัดภูเก็ตแบบชิโนโปรตุกีส ผสมผสานกับรูปแบบอาคารหลังคาทรงปั้นหยาแบบภาคใต้”

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วประมาณ 44 % คาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนดที่วางไว้ และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะเอื้อประโยชน์ด้านการคมนาคมขนส่งทางบกที่เชื่อมระหว่างเกาะภูเก็ตกับจังหวัดพังงาให้มีความสะดวก ปลอดภัย สอดคล้องกับการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร จาก ต.โคกกลอย จ.พังงา ถึง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ตามแนวทางหลวงหมายเลข 402 ของกรมทางหลวง รวมถึงการคมนาคมทางน้ำจะมีความสะดวกและปลอดภัย ยังเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงในภูมิภาคด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น