จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

จังหวัดพอใจซ้อมอพยพประชาชนหนีสึนามิ


เมื่อวันที่ 13 กันยายน 53 ที่บริเวณลานต้นซอยบางลา ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิ ประจำปี 2553 เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญเหตุจากภัยสึนามิและภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทราบถึงศักยภาพของระบบเตือนภัย อีกทั้งเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบในบทบาทและภารกิจของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีพื้นที่ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัย 19 จุด ใน 12 ท้องถิ่น โดยมีนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงษ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต นายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรมูลนิธิ ตลอดจนนักเรียน นักศึกษาและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมจำนวน 1,500 คน

ทั้งนี้ได้กำหนดการฝึกซ้อมไว้ 9 ขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มเกิดแผ่นดินไหว การเฝ้าระวัง การบัญชาการเหตุการณ์ การอพยพประชาชน คลื่นสึนามิเข้าสู่ฝั่ง การกู้ชีพ-กู้ภัย การค้นหาช่วยเหลือ การบริหารจัดการในศูนย์อพยพและการรักษาพยาบาล ด้วยการจำลองเหตุการณ์ ว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 8.5 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่ละติจูด 6.37 องศาเหนือ ลองติจูดที่ 94.31องศาตะวันออก ความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ระยะห่างจากชายฝั่งทะเลอันดามัน 449 กิโลเมตร คาดว่าจะมีโอกาสเกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดเข้าฝั่งบริเวณเกาะภูเก็ต จะต้องทำการอพยพประชาชนไปยังจุดที่ปลอดภัย

หลังเสร็จสิ้นการฝึกซ้อมนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับนายวิชัยไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงสรุปผลการฝึกซ้อมฯ ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ว่า พอใจในระดับหนึ่ง สิ่งที่ต้องนำไปปรับปรุง คือ ความดังของระบบสัญญาณเสียงซึ่งมีปัญหา โดยจะได้แจ้งให้กับทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทราบ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขต่อไป นอกจากนี้ในอนาคตอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเวลาในการฝึกซ้อมซึ่งอาจจะเป็นช่วงกลางคืนบ้าง เพราะจะต้องมีการเตรียมพร้อมในทุกสถานการณ์ เนื่องจากปัจจุบันภัยธรรมชาติเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตามในส่วนของระบบสัญญาณเตือนภัยนั้น นอกจากเสียงที่มาจากหอเตือนภัยแล้ว ในส่วนของศูนย์เตือนภัยฯ และท้องถิ่นต่างๆ ก็ได้เตรียมแผนสำรองหากเกิดปัญหาขึ้น ทั้งการส่งข้อความผ่านมือถือ การจัดรถกระจายเสียงเคลื่อนที่ การประกาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ทั้งส่วนกลางส่วนท้องถิ่น เคเบิ้ลและสถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งคลื่นหลักและวิทยุชุมด้วย เพื่อให้การแจ้งเตือนครอบคลุม นายวิบูลย์กล่าว

ด้านนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การฝึกซ้อมในครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอาสาสมัครต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของภูเก็ตไปสู่สายตานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและประชาชน ให้เกิดความมั่นใจในความพร้อมของทางจังหวัดภูเก็ต เนื่องปัจจุบันจะเห็นว่ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ว่าในการฝึกซ้อมจะมีปัญหาระบบเสียงของหอเตือนภัยบ้าง ซึ่งก็จะต้องแก้ไขกันต่อไป

ขณะที่นายภาณุ แย้มศรี ผู้อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ปัญหาระดับความดังของสัญญาณเตือนภัยนั้น เป็นปัญหาทางด้านเทคนิค และเสียงรบกวนเนื่องจากเสาสัญญาณตั้งอยู่บริเวณริมทะเล อาจจะมีเรื่องของคลื่นลม และสภาพแวดล้อมต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งปัญหานี้เป็นที่รับทราบมาตั้งแต่ปี 2550 และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข เพื่อให้มีความดังครอบคลุมระยะ 1.5 กิโลเมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิ ในส่วนของเทศบาลตำบลราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งมีการติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัย 4 จุด ประกอบด้วย หาดราไวย์ หาดในหาน เกาะราชาใหญ่และเกาะโหลน ปรากฏว่าสัญญาณเตือนภัยบริเวณหาดในหานไม่ดัง เกี่ยวกับเรื่องนี้นายอรุณ โสฬส นายเทศมนตรีตำบลราไวย์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากสายทองแดงของหอเตือนภัยถูกขโมย เพราะการฝึกซ้อมในปีที่ผ่านมาก็เคยเจอปัญหานี้แล้วเช่นกัน ก็จะได้แจ้งให้ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภูเก็ตทราบ และเข้ามาทำการแก้ไขต่อไป เพื่อประชาชนจะได้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น