จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตรวจรับผลศึกษาเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว



เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (อาคารใหม่) นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประชุมตรวจรับงานจ้างที่ปรึกษา โครงการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและการค้าทางทะเลกลุ่มอันดามัน ซึ่ง นำเสนอโดย บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 5 จังหวัดอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรังและระนอง เข้าร่วม

สำหรับการจัดทำโครงการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวและการค้าทางทะเลสู่อันดามันนั้น ทางสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้ว่าจ้างบริษัท สแปนฯ ทำการศึกษาในวงเงิน 25 ล้านบาท เพื่อจัดทำเป็นแผนแม่บทการพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งที่เหมาะสมในฝั่งอันดามัน โดยเชื่อมโยงการคมนาคมทุกรูปแบบที่รองรับแหล่งท่องเที่ยว และศึกษาขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวของกลุ่มอันดามันในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งกำหนดกลไกลการพัฒนาการท่องเที่ยวในอันดามัน เพื่อจัดทำแผนแม่บท แผนระยะเร่งด่วน (1 – 5 ปี) แผนระยะปานกลาง (5 – 10 ปี) และแผนระยะยาว (มากกว่า 10ปี) เน้นการศึกษาใน 3 เรื่องหลัก คือ การศึกษาด้านการท่องเที่ยว การศึกษาด้านเศรษฐกิจและการค้า และการศึกษาระบบคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ โดยจะต้องแล้วเสร็จภายในต้นปี 2555

จากการศึกษาด้านการท่องเที่ยวในเบื้องต้น พบว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดอันดามันมีความหลากหลาย และมีลักษณะเป็น mass มากขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวจากจีนและเอเชียเข้ามาเป็นกรุ๊ปมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวเข้ามาเช่นกัน จึงจะต้องบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดตำแหน่งของแต่ละจังหวัดในการพัฒนาการท่องเที่ยว คือ ระนอง เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เน้นเรื่องสุขภาพ เพราะมีน้ำแร่ที่มีชื่อเสียง, พังงา เป็น Long Stay, ภูเก็ต เป็น ICT City พัฒนาสู่ฐานอุตสาหกรรมความรู้ด้านการแพทย์ การเป็น MICE และ Marina, กระบี่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพสูง และตรัง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น

ด้านระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ พบว่ามีการใช้คมนาคมครบทุกด้านทั้งทางอากาศ ทางบกและทางน้ำ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาทางเครื่องบิน จากนั้นจะใช้รถยนต์ในการเดินทางเข้าสู่ที่พักและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ส่วนการเดินทางเชื่อมระหว่างจังหวัดยังคงใช้ทางถนนเป็นเส้นทางหลัง

นอกจากนี้บริษัทที่ปรึกษาได้สรุปผลการศึกษาในเบื้องต้น ว่า กลุ่มจังหวัดอันดามันมีเศรษฐกิจหลักขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวและการเกษตร เมื่อการท่องเที่ยวเจริญเติบโต ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ เติบโตตามไปด้วยแต่ในบางจังหวัดแม้ท่องเที่ยวจะทรุด แต่เศรษฐกิจไม่ได้ทรุดตามไปทั้งหมด เนื่องจากยังมีผลผลิตด้านการเกษตรมารองรับ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งภายในจังหวัดและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในกลุ่มอันดามัน ตลอดจะต้องมีการขยายฐานการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ด้วยการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางรางและทางน้ำมารองรับ เพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น