จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วงเสวนาแนะควรมองท่องเที่ยวหลากมิติ



จากงานสัมมนา “Phuket Creative Tourism II” ซึ่งทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต จัดขึ้น ทั้งนี้ได้มีการเสวนา เรื่อง การสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของภูเก็ต เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายสมประสงค์ โขมพัตต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวิจิตร ณ ระนอง อดีตประธานคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศ.ดร.จีระ หงส์รดารมภ์ เลขามูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและ รศ.นิศา ชัชกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต โดยวงเสวนาได้มีคำแนะนำต่างๆ ประกอบด้วย
ศ.ดร.จีระ หงส์รดารมภ์ เลขามูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ กล่าวถึงอนาคตของภูเก็ตว่า จะต้องเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มีคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่มและกระจายรายได้ให้คนไทยมากกว่าชาวต่างประเทศ เนื่องจากแบรนด์ของภูเก็ตเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แต่ Brand Positioning จะต้องสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้ยุทธวิธีในการเพิ่มความแข็งแกร่ง นอกจากเป็นเมืองเพื่อท่องเที่ยวและพักผ่อนแล้ว จะต้องสามารถทำงานได้ด้วย ส่วนไหนที่ขาดก็จะต้องเติมเต็ม เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระบบไอที การบริหารจัดการ เป็นต้น ในส่วนของสถาบันการศึกษาจะต้องมีการปรับตัวโดยการผลิตทุนมนุษย์ออกมารองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการพัฒนาผู้นำท้องถิ่น ข้าราชการส่วนภูมิภาค นักธุรกิจในกลุ่มเอสเอ็มอี และพนักงานบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของภาษาต่างประเทศและการสร้างศักยภาพ รวมถึงการเพิ่มธุรกิจที่หลากหลายนอกเหนือจากการท่องเที่ยว เช่น ไอที การแพทย์ การฝึกอบรม เป็นต้น นอกจากนี้แทนการพึ่งพาเฉพาะตลาดยุโรปก็จะต้องมีการติดต่อประสานงานกับประเทศต่างๆในภูมิภาคให้มากขึ้น รวมถึงการสร้างครัสเตอร์ระหว่างจังหวัดใกล้เคียง
ด้านนายสมประสงค์ โขมพัตต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องท้าทายสำหรับภูเก็ตอย่างมาก เช่น การพัฒนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับเมืองนิช ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งที่ผ่านมาขาดความต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เป็นโอกาสที่ดีมากสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น โดยเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภูเก็ตในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามามากขึ้น การรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์กับจังหวัดใกล้เคียง เช่น กระบี่ พังงา เป็นต้น แม้ว่าโดยตัวของภูเก็ตนั้นจะขายได้อยู่แล้ว แต่จะทำให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวและมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เสน่ห์สำคัญของภูเก็ตนอกจากเรื่องของอาหาร วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ แล้ว แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะจะเห็นว่าปัจจุบันการพัฒนาจะเน้นทางด้านวัตถุค่อนข้างมาก ทำอย่างไรให้ชุมชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรที่มีอยู่และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างแท้จริง เช่น หาดในยาง เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะต้องเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจ เช่น ไอที กีฬา เป็นต้น ทั้งหมดเป็นเพียงบ้างส่วนซึ่งหากทำได้ก็จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับภูเก็ตได้ และล้วนแล้วแต่ท้าทายความสามารถทั้งสิ้น
ขณะที่นายวิจิตร ณ ระนอง อดีตประธานคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าภูเก็ตจะเป็นที่ยอมรับทั่วโลก แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาถือว่ายังไม่สมบูรณ์ เพราะการพัฒนามุ่งเน้นการเติบโตไปในทิศทางเดียวเท่านั้น คือ การใช้ทรัพยากร โดยไม่ได้คำนึงถึงการดูแลและรักษาเพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น
ภาพรวมการท่องเที่ยวของภูเก็ตนั้นมีการเติบโตที่ดีทั้งเรื่องของตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถามถึงความยั่งยืนก็ยังมีข้อกังขากันอยู่จะเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลายบ้าง ดังนั้นการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นต่อไป จะมองเฉพาะมิติของตัวเลขหรือรายได้อย่างเดียวคงไม่พอ แต่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้เกิดความหลากหลายด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มของโปรดักส์หรือสินค้า (ธรรมชาติ) ที่มีอยู่ ไม่ใช่เฉพาะการแก้ปัญหาน้ำเสียหรือขยะเท่านั้น แต่ต้องมาดูที่อาหารจานหลัก ซึ่งถือเป็นหัวใจและเส้นเลือดสำคัญ เพราะที่ผ่านมาเราเน้นเฉพาะเรื่องของน้ำจิ้มหรือองค์ประกอบอื่น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลาง ข้าราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการหรือแม้กระทั่งสื่อมวลชน
หากพูดถึงทุนมนุษย์แล้วเรายังเป็นจุดบอด หากจะให้เกิดความยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขัน นอกจากตัวสินค้าที่ดีแล้ว การบริการที่มีมาตรฐานก็เป็นส่วนสำคัญ รวมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มความหลากหลายให้กับธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นธุรกิจที่มาช่วยเสริมและไม่ทำลายการท่องเที่ยว เช่น บริการสุขภาพ กีฬา ไอที เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของปัญหาสังคมที่เกิดจากการลอกเลียนแบบวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้เราอาจสูญเสียขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น