จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ดันภูเก็ตเป็นเมืองวัฒนธรรมอาหารของยูเนสโก



วันที่ 5 พฤศจิกายน 54 ที่ห้องนนทรี โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต สมาคมเพอรานากันและมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และเทศบาลนครภูเก็ต จัดการประชุมประชาคมครั้งที่ 1 “การผลักดันเมืองภูเก็ตให้เป็นเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก” เพื่ออธิบายและสอบถามความคิดเห็นเบื้องต้นจากผู้ประกอบการด้านอาหารพื้นเมืองภูเก็ต ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวภูเก็ตให้เป็นมรดกสำคัญและเป็นที่รู้จักในระดับโลก โดยมี ผศ.อดุล นาคะโร หัวหน้าคณะศึกษาวิจัย เรื่องเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต นพ.โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน นายกวี ตันสุตานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ตัวแทนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ตัวแทนจากเทศบาลนครภูเก็ต ผู้ประกอบการและผลิตอาหารพื้นเมืองภูเก็ต ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วม
ผศ.อดุล นาคะโร หัวหน้าคณะศึกษาวิจัย เรื่องเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงนามบรรทุกข้อตกลงร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ต เพื่อผลักดันโครงการนำเสนอให้เมืองภูเก็ตเป็นเมืองในเครือข่ายเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ( City of Gastronomy) ซึ่งปัจจุบันได้รับการประกาศไปแล้ว 3 เมือง ได้แก่ เมืองโปปายัน ประเทศโคลัมเบีย เมืองอุสเตอร์ซุน ประเทศสวีเดน และเมืองเฉิงตู ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการนำเสนอดังกล่าวก็เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นยกระดับให้เป็นมรดกโลก และยังเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงด้านอาหารท้องถิ่นให้นานาประเทศรับทราบและสนใจเดินทางมาเยี่ยมเยียนภูเก็ตมากขึ้น โดยจะใช้เวลารวบรวมข้อมูลประมาณ 6 เดือนจากนั้นก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการยูเนสโกเพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ตจะทำหน้าที่ในการรวบรวมเอกสารเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการยูเนสโก ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมเพอรานากัน วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต และเครือข่ายทางวัฒนธรรมในย่านเมืองเก่าเทศบาลนครภูเก็ต พิจารณานำเสนออาหารชาวบาบ๋าภูเก็ตเป็นอาหารหลัก เพราะเป็นอาหารท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวภูเก็ตซึ่งมีรสชาติอร่อย มีชื่อเสียงมานาน ถือกำเนิดและพัฒนาการคู่เมืองภูเก็ตมากว่า 100 ปี เช่น น้ำชุบหยำภูเก็ต หมี่สั่ว หมูฮ้อง โอเอว เม็ดกาหยี เป็นต้น ควบคู่ไปกับความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ของอาหารนานาชาติที่มีวิวัฒนาการร่วมกัน ได้แก่ อาหารซีฟู้ดที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ปลาเผา เบือทอด จักจั่นทะเล เป็นต้น รวมถึงอาหารไทยและอาหารมุสลิมด้วย เพื่อทำการเผยแพร่สู่ชาวโลกควบคู่กับแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สวยงาม และการได้เป็นเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหารยูเนสโก จึงเป็นการเติมเต็มทรัพยากรการท่องเที่ยวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผศ.อดุลกล่าว
ขณะที่นพ.โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน กล่าวเสริมว่า จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่าทางยูเนสโกและกระทรวงวัฒนธรรมมีความประสงค์ให้เชื่อมโยงแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมอาหารกับความเจริญรุ่งเรืองมรอดีตของย่านเมืองเก่าเทศบาลนครภูเก็ตเป็นหลัก เพราะเป็นจุดเริ่มประเพณีวัฒนธรรมของชาวบาบ๋าภูเก็ต ซึ่งเป็นประชากรดั้งเดิมส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต เช่นเดียวกับเมืองเฉิงตู ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งพึ่งได้รับการประกาศไปเมื่อปีที่ผ่านมา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น