จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อังกฤษส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาให้ประเทศไทย



จากกรณีที่นายลองเฟลโล ดาห์ชาน (Longfellow Dashawn) อายุ 23 ปี สัญชาติอเมริกัน อดีตนาวิกโยธินประเทศสหรัฐอเมริกา และนักเรียนฝึกมวยไทย ถูกคนร้ายแทงเข้าที่หน้าอก 2 แผลจนเสียชีวิต เหตุเกิดที่รีสอร์ท ยะนุ้ยพาราไดร์ บีช รีสอร์ท ห้องหมายเลข 9/35 ม.6 ซอยยะนุ้ย ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2553 ที่ผ่านมา 



หลังจากเกิดเหตุทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต ได้สืบสวนจนกระทั่งทราบว่า คนร้ายที่ก่อเหตุในครั้งนี้ คือนายลี ออเฮ้าส์ (Lee Aldhouse) อายุ 30 ปี สัญชาติอังกฤษ ชาวต่างชาติที่มาชกมวยไทยจนมีชื่อเสียงในจังหวัดภูเก็ต หลังจากก่อเหตุได้หลบหนีออกจากเกาะภูเก็ตทางรถยนต์โดยสารไปกับแฟนสาวชาวไทย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ไปขอออกหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ต แต่นายลี ออเฮ้าส์ ได้หลบหนีไปเข้าประเทศกัมพูชา ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินไปที่ประเทศสิงค์โปร์ แล้วหลบหนีไปยังประเทศอังกฤษ แต่ขณะที่เครื่องบินลงจอดที่รันเวย์เจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศอังกฤษก็ได้เข้าควบคุมตัวนายลี ออเฮ้าส์ไว้ พร้อมทั้งประสานมายังตำรวจไทยให้ดำเนินการรับตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย เนื่องจากก่อคดีในประเทศไทย 


โดยเจ้าหน้าที่อัยการสูงสุดฝ่ายการต่างประเทศเป็นผู้ติดต่อประสานเพื่อรับตัวนายลี ออเฮ้าส์ ผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีในประเทศไทย ในข้อหา”ฆ่าผู้อื่นตายโดยไตรตรองไว้ก่อน” ซึ่งการติดต่อขอตัวนายลีออเฮ้าส์มาดำเนินคดีในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติส่งตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย 


ล่าสุดเมื่อเวลา 20.35 น.ของวันที่ 1 ธันวาคม 2555 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต นางอินทรานี สุมาวงศ์ อัยการพิเศษประจำสำนักงานอัยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ 2 พร้อมด้วยนายภานุมาศ อจลบุญ อัยการพิเศษประจำสำนักงานอัยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ 2 พ.ต.อ.สินาด อาจหาญวงศ์ ผู้กำกับการฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 3 พ.ต.ท.เกชา สุขรมย์ รองผู้กำกับการฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 3 ได้ควบคุมตัว นายลี ออเฮ้าส์ มาจากสนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพมหานคร มายังท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ด้วยสายการบิน TG 221 โดยมี พ.ต.อ.อรุณ แกล้ววาที รองผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พ.ต.อ.วันชัย ปาละวัน ผกก.สส.ภ.จว.ภูเก็ต พ.ต.ท.วรพงศ์ พรหมอินทร์ สว.สส.สภ.ฉลอง เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษและเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สภ.ฉลองกว่า 30 นาย เดินทางมาร่วมรับตัวผู้ต้องหาข้ามแดนในครั้งนี้ด้วย หลังจากเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เจ้าหน้าที่รับตัวนายลี ออเฮ้าส์ ไปยังสภ.ฉลอง เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 


ทั้งนี้นางอินทรานี สุมาวงศ์ อัยการพิเศษประจำสำนักงานอัยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ 2 กล่าว เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วย นายภานุมาศ อจลบุญ อัยการพิเศษประจำสำนักงานอัยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ 2 พ.ต.อ.สินาด อาจหาญวงศ์ ผู้กำกับการฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 3 พ.ต.ท.เกชา สุขรมย์ รองผู้กำกับการฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 3 ได้ เดินทางไปกรุงลอนดอน เพื่อรับตัว นายลี ออเฮ้าส์ มาดำเนินคดีที่ สภ.ฉลอง หลังจากก่อเหตุฆ่านักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน สำหรับการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน หากไม่มีก็ต้องมีหลักการปฏิบัติต่างตอบแทนต่อกัน ซึ่งคดีดังกล่าวประเทศไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศสหราชอาณาจักร มาเมื่อ พ.ศ. 2454 จนถึงขณะนี้รวม 101 ปี ซึ่งตั้งแต่มีการทำสนธิสัญญาฯกันเราเคยขอการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีในประเทศไทยหลายคดี แต่ไม่เคยได้รับการส่งผู้ร้ายกลับมาให้ประเทศไทยดำเนินคดีแม้นแต่คดีเดียว ซึ่งคดีนี้ถือว่าเป็นคดีแรกใน 101 ปี ที่ประเทศสหราชอาณาจักรได้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาให้ประเทศไทยดำเนินคดีตามกฎหมาย หากย้อนหลังไป 3 ปี ที่ผ่านมา ทางการไทยโดยอัยการสูงสุดประสานงานร่วมกับตำรวจสากลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราได้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปให้ประเทศราชอาณาจักรไปกว่า 20 ราย 


คดีนี้ถือเป็นคดีที่สำคัญมาก เพราะว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก นอกจากนี้ยังให้ความสนใจในเรื่องของความสงบเรียบร้อยของจังหวัดภูเก็ตและประสิทธิภาพ ของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ซึ่งการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีนี้เป็นการขอที่ยากที่สุด เราจะต้องผ่านขั้นตอนของสิทธิมนุษยชน ให้ทางการประเทศสหราชอาณาจักร ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมของไทย ว่าเมื่อเขาส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาแล้วเราจะต้องปฏิบัติตามสิทธิมนุษย์ชนที่กำหนดไว้ในระหว่างประเทศ รวมทั้งเราจะต้องให้ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีในสิทธิ์ที่จะต้องมีทนาย มีล่าม การควบคุมต้องไม่มีการทำร้ายหรือการข่มขู่ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งทางสำนักงานได้ประสานอัยการจังหวัดภูเก็ตแล้ว เพื่อให้ดำเนินคดีเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ทุกขั้นตอนต้องทำไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมตรวจสอบได้ 


นางอินทรานี ยังกล่าวอีกว่า ระหว่างที่นำตัวนายลี ออเฮ้าส์ เดินทางมาประเทศไทยนั้น นายลีมีอาการเครียดอย่างมาก พร้อมทั้งได้มีการสอบถามอยู่ตลอดว่า เมื่อเดินทางมาที่ภูเก็ต อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้อธิบายและทำความเข้าใจกับตัวผู้ต้องหา ถึงหลักการปฏิบัติระหว่างประเทศหรือว่าหลักกระบวนยุติธรรมทางอาญา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ต้องหา จนสามารถพูดคุยกันอย่างเข้าใจกัน โดยในเบื้องต้นผู้ต้องหาได้รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น