จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รมช.เกษตรตรวจความพร้อมจัดตั้ง "ทูน่า ฮับ"



เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 ที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต องค์การสะพานปลา ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ตรวจเยี่ยมและรับฟังบรรยายสรุปแผนการดำเนินการจัดตั้ง (Tuna Hub) ทูน่า ฮับ ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต 


โดยมีนายประมวล รักษ์ใจ รองผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.เสน่ห์ ยาวิละ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต นายสมเพียร ชโลธร หัวหน้าสำนักงานท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ และนำเยี่ยมชมความความพร้อมของท่าเทียบเรือ 


นายประมวล กล่าวถึงแผนการจัดตั้ง ทูน่า ฮับ ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในการพัฒนาการทำประมงปลาทูน่าและการตลาดปลาทูน่าในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออก อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปิดประตูสู่ AEC ของภูมิภาค เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเป็นการผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางด้านการประมงของภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียฯ โดยจะเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายปลาทูน่าสำหรับกองเรือประมงเบ็ดราว การขนส่งปลาทูน่าแช่แข็ง และการแปรรูปปลาทูน่าของภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออก 


“ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันเป็นท่าเทียบเรือประมงที่ได้รับการรับรองด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมง จากกรมประมง มีเรือประมงในประเทศที่เข้ามาขนถ่ายสัตว์น้ำ ประกอบด้วยเรือประมงอวนล้อมจับ เรือประมงอวนลาก เรือประมงอวนลากปลากะตัก และไดหมึก รวมร้อยละ 80 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 เป็นเรือประมงเบ็ดราวจากต่างประเทศ ซึ่งสัตว์น้ำที่ขนถ่ายผ่านท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ประกอบด้วย ปลาทู ปลาลัง ปลาทูแขก ปลาเบญจพรรณอื่นๆ ปลาทูน่า กุ้ง ปลาหมึก ปลากะตัก โดยในปี 2555 มีปริมาณสัตว์น้ำรวม 29,581 ตัน มูลค่า 1,828,757,320 บาท” 


นายประมวล กล่าวด้วยว่า จากศักยภาพของท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ท่าเทียบเรือที่ความยาว 500 เมตร สำหรับเรือประมงเบ็ดราวทูน่า ทั้งเรือเบ็ดราวทู่น่าแช่เย็น และเรือเบ็ดราวทูน่าแช่แข็ง มีห้องเย็นขนาด 600 ตัน พร้อมโรงผลิตน้ำแข็งวันละ 1,600 ซอง อู่ซ่อมแซมเรือประมงที่ได้มาตรฐาน ตลอดจน พื้นที่จัดตั้งโรงงานแปรรูปปลาทูน่า จึงมีความพร้อมในการจัดตั้งเป็น ทูน่า ฮับ ในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออก และพัฒนาเป็นเขตส่งเสริมการส่งออกได้ 


อย่างไรก็ตามนายประมวล ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาและการจัดตั้ง ทูน่า ฮับ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 เป็นต้นไป ว่า ประกอบด้วย การขุดลอกบริเวณด้านหน้าท่าเทียบเรือประมง ความลึกประมาณ 4 เมตร โดยได้รับงบประมาณประจำปี 2557 จำนวน 8,280,000 บาท, การบริหารจัดการพื้นที่ท่าเทียบเรือประมง โดยจัดแบ่งเขตพื้นที่ขนถ่ายปลาทูน่าแยกจากพื้นที่ขนถ่ายสัตว์น้ำทั่วไป จัดบุคลากรควบคุมดูแลการเข้าจอดเทียบท่าและการขนถ่ายปลาทูน่า, จัดเตรียมพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ 


เพื่อพัฒนาเป็นเขตก่อสร้างโรงงานแปรรูปปลาทูน่า โดยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการบริหารจัดการโรงงาน และก่อสร้างอาคารโรงประมูลปลาทูน่าบริเวณท่าเทียบเรือประมง พร้อมติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ในการเก็บ รวบรวมข้อมูลด้านการผลิต การตลาด ปลาทูน่า โดยการนำเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2558 


นอกจากนี้จะได้ประสานกรมประมงในการจัดตั้งระบบ Port State Measure ขึ้นที่ท่าเทียบเรือฯ ร่วมกับองค์การอาหารเพื่อเกษตรแห่งสหประชาชาติ กรมประมง และหน่วยงานเกี่ยวข้อง จัดตั้งกองเรือประมงเบ็ดราวปลาทูน่าที่เป็นเรือประมงสัญชาติไทย โดยการสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำเข้า หรือแปลงสัญชาติเรือจากต่างประเทศเป็นเรือสัญชาติไทย และจะมีการบูรณาการหน่วยงานของกรมประมงที่เกี่ยวข้องในการนำเข้าและส่งออกปลาทูน่าที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงการประสานหน่วยงานต่างๆ ในการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายศุลกากร และการจัดตั้งเขตปลอดอากร 


ทางด้านนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสตร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังจากฟังบรรยายสรุปและเยี่ยมชมท่าเทียบเรือประมงจังหวัดภูเก็ตว่า ท่าเทียบเรือประมง องค์การสะพานปลา เป็นท่าเทียบเรือที่มีมาตรฐานความพร้อมที่ดีในระดับสากล ซึ่งคิดว่าน่าจะสามารถผลักดันพัฒนาเป็นศูนย์กลาง Tuna Hubได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาในระดับประเทศได้ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่หลายหน่วยงานจะต้องดำเนินการก่อนที่จะมีการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ทางจังหวัดภูเก็ตเองก็จะต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเพื่อให้เกิดรายได้ซึ่งเป็นผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ และจะต้องส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับชาวประมงให้มากที่สุด 


ในรูปธรรมจะต้องมีการขับเคลื่อนพัฒนาให้ท่าเทียบเรือประมง องค์การสะพานปลา เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสัตว์น้ำที่ครบวงจร ซีฟู้ด ฮับ และสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคตได้ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปเพื่อให้สอดคล้องกัน โดยที่ไม่ได้พัฒนาเฉพาะแต่ในพื้นนี้นี้ แต่จะต้องมีการพัฒนาในพื้นที่อื่นด้วย แต่ที่ต้องพัฒนาท่าเทียบเรือประมง องค์การสะพานปลาแห่งนี้ก่อน ก็เนื่องจากว่าเป็นพื้นที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในหลายๆด้าน ที่จะส่งเสริมเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางระดับโลกได้ 


รูปแบบที่จะพัฒนาการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มองไว้ คือ การเป็นตลาดกลางประมงสัตว์น้ำทุกชนิดหรือซีฟู้ด ฮับ พร้อมทั้งอาจจะเป็นรูปแบบภัตตาคารที่ได้มาตรฐานที่สามารถเข้ามาชมทัศนียภาพที่สวยงามและทานอาหารทะเลที่สะอาดและมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวที่เข้ามายังจังหวัดภูเก็ตจะต้องมาเยือนที่แห่งนี้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น