จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

ผอ.ฉก.จัดระเบียบท่องเที่ยวพอใจผลบูรณาการ



เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สถานีตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษา (มค.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจจัดระเบียบพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ และพล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานคณะอนุกรรมการศึกษา เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ด้านการ ท่องเที่ยว และปัญหาด้านความปลอดภัย ภาพลักษณ์ และปัญหาของการท่องเที่ยว ในคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา พร้อมคณะ 


ร่วมประชุมสรุปผลการปฏิบัติตามคำสั่งปฏิบัติการจัดระเบียบพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.วิศณุ ม่วงแพร สี รอง ผบช.ภ.8 พ.ต.อ.พีรยุทธ การะเจดีย์ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พ.ต.ท.สมบูรณ์ สารสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและจังหวัดภูเก็ต อาทิ เจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจสอบสวนกลาง เป็นต้น โอกาสเดียวกันนี้ยังได้มีการแถลงผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต ห้วงระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม -25 กันยายน 2556 ด้วย 


ทั้งนี้ได้มีการประชุมผ่านระบบคอนเฟอร์เร้น ร่วมกับทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาตำรวจแห่งชาติ สรุปผลการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ตำรวจภูธรภาค 2 (ชลบุรี) ภาค 5(เชียงใหม่) และภาค 8 (ภูเก็ต,สมุย) เกี่ยวกับการปฏิบัติงานซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วนในระหว่างวันที่ 16-31 สิงหาคม 2556 และระยะต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 1-30 กันยายน 2556 ประกอบด้วย 


การตรวจสอบประวัติและพฤติกรรมแวดล้อมเกี่ยวกับชาวต่างชาติ, การดำเนินการเกี่ยวกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพล จำหน่ายสินค้าและบริการโดยมีพฤติกรรมหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ ข่มขู่ ทำร้ายนักท่องเที่ยว, การปิดล้อมตรวจค้น, การตรวจสอบสถานที่ล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม เช่น สถานบริการ ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต ร้านคาราโอเกะ ร้านข้าวต้มโต้รุ่ง สวนสาธารณะ แหล่งอบายมุข เป็นต้น, การตรวจรถต้องสงสัย, การจัดทำประวัติกลุ่มเสี่ยง บุคคลพ้นโทษ บุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และการจับกุมคดีต่างๆ เช่น คดีค้างเก่า อาวุธปืน ยาเสพติด ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น 


พล.ต.อ.วุฒิ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งปฏิบัติการจัดระเบียบพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2556 เจตนารมณ์เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่แหล่งท่องสำคัญตามจังหวัดที่มียุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากภายใต้การบังคับบัญชา แบบบูรณาการของศูนย์เฉพาะกิจจัดระเบียบพื้นท่องเที่ยวสำคัญ ภาพรวมปรากฏว่า จากการปฏิบัติตามกรอบดังกล่าว พบว่าคดีที่มีความรุนแรงต่อนักท่องเที่ยวในความรับผิดชอบของตำรวจภูธรในแต่ละพื้นที่ 


โดยเฉพาะคดีฆ่า ข่มขืน ชิงทรัพย์ และการหลอกลวงขายสินค้าในลักษณะเป็นขบวนการและซ้ำซากนั้นลดลงอย่างชัดเจน ส่วนของตำรวจท่องเที่ยวนั้นก็ได้มีการปัญหาไปแล้วในเรื่องของทัวร์ศูนย์เหรียญ อัญมณี และร้านตัดสูท หลังจากนี้ก็จะต้องไปดำเนินการกับกลุ่มผู้ประกอบการทัวร์อย่างจริงจังโดยจะต้องไม่มีทัวร์เถื่อนเกิดขึ้น ส่วนของตรวจคนเข้าเมืองก็จะต้องไปสำรวจสัดส่วนของผู้ที่ขออยู่ต่อ ซึ่งก็จะได้มีการลงมาสุ่มตรวจว่ามีการปล่อยปละละเลยหรือไม่ 


“จากปฏิบัติการที่ดำเนินการมาทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2556 จนปัจจุบัน สามารถจับกุมผู้ต้องหาในพื้นที่ดังกล่าวไปแล้วประมาณ 10,000 คน อันดับแรกเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ประมาณ 5,000 คน ความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ประมาณ 2,000 คน คดีเกี่ยวกับการชี้แนะหรือแนะนำหรือเตร็ดเตร่เพื่อการค้าประเวณีประมาณ 1,600 คน โดยเฉพาะพัทยา ภูเก็ตและสมุย มีการจับเกี่ยวกับการเล่นการพนันเกือบ 500 คน กวาดล้างอาวุธ ซึ่งมีความผิด พ.รบ.ปืนประมาณ 300 คน” 


พล.ต.อ.วุฒิ กล่าวด้วยว่า เป็นที่น่าสังเกตว่านับจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นมายังไม่มีข่าวใดในแหล่งท่องเที่ยวหลักเกิดคดีเกี่ยวกับการฆ่า ข่มขืนและชิงทรัพย์นักท่องเที่ยวจนเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งทำงานกันอย่างเข้มข้น ส่วนของลักษณะปัญหาที่เกิดซ้ำซาก กับนักท่องเที่ยว เช่น มอมยา หลอกลวงนักท่องเที่ยวของร้านอัญมณี ร้านตัดสูท เป็นต้น ก็หายไป และที่ชัดเจนซึ่งได้รับการยืนยันจากทั้งกองปราบฯ และดีเอสไอว่าผู้มีอิทธิพลเริ่มหายไป ส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ดำเนินคดีกันไป เพื่อยืนยันว่าไม่ได้พูดไปเองก็ได้ให้ทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมาทำการประเมินผล ปรากฏว่านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเชื่อมั่นมาตรการรักษาความปลอดภัยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติสูงเกือบ 80% ในทุกมิติ รวมทั้งจากตัวชี้วัดมาตรฐานกลางที่ใช้กันทั่วโลก คือ นักท่องเที่ยว 100,000 คนจะมีคดีได้ไม่เกิน 20 คดี แต่ของเราตรวจสอบได้ไม่ถึง 5 คดี ในทุกพื้นที่เป้าหมาย โดยหลังจากนี้ทุกหน่วยก็จะกลับเข้าไปดำเนินงานตามภารกิจปกติ แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้นอีกก็จะมีการระดมกำลังดำเนินการใหม่ 


ขณะที่พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานคณะอนุกรรมการศึกษา เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ด้านการ ท่องเที่ยว และปัญหาด้านความปลอดภัย ภาพลักษณ์ และปัญหาของการท่องเที่ยว ในคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา กล่าวในที่ประชุมว่า การดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่นั้น จะทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากยิ่งขึ้น และจะทำให้บรรลุตามนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2558 ให้ได้ 2 ล้านล้านบาท 


“อยากฝากในเรื่องการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ดีเอสไอ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งหมด ในเรื่องของการตรวจสอบ โดยเฉพาะเรื่องของผู้มีอิทธิพล จะต้องมีความรอบคอบและชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งจะต้องมีการออกแผนปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความยังยื่น โปร่งใส และไม่มีการแอบแฝง ซึ่งหลังจากดำเนินการในเรื่องของแท็กซี่เรียบร้อยแล้วก็จะได้ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ต่อไป รวมไปถึงเรื่องของงบประมาณในการติดตั้งซีซีทีวีที่ได้มอบหมายตำรวจท่องเที่ยวไปดำเนินการในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญจำนวน 197 ล้านบาท” พล.ต.อ.พิชิต กล่าว 


ทางด้านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ต้องขอบคุณทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ลงมาเสริมการทำงานในพื้นที่ โดยได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แต่ทำอย่างไรที่จะเกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน หนักแน่นและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการทะลายรั้วโรงพักในการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภายนอก ซึ่งถือว่าครั้งนี้สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี ด้วยวิธีการใช้พลังจากส่วนบนเสริม และพลังในพื้นที่หนุน 


“ในเรื่องของปัญหาแท้กซี่นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดระเบียบ ซึ่งก็ได้เข้าระบบมากขึ้น แต่งานเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประณีต ไม่สามารถที่จะทำให้จบได้ในทันที เช่น กรณีแท็กซี่ภายในท่าอากาศยานภูเก็ต หากมีการกำหนดกิติกาใหม่ก็จะต้องให้ทางขนส่งได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย มิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาและภาระตกมาที่จังหวัดอีก โดยควรจะต้องให้ตกผลึกตั้งแต่ภายนอกก่อนที่จะเข้าไปสรุปภายใน” 


นายไมตรี ยังกล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าภูเก็ตมีความหลากหลายจากพื้นที่อื่นๆ เพราะเรามีผู้คนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวผ่านสนามบินภูเก็ตประมาณ 26,000-27,000 คน และเมื่อสิ้นปีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวผ่านสนามบินภูเก็ตไม่ต่ำกว่า 11 ล้านคนอย่างแน่นอน ส่วนคดีที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวนั้นตัวเลขนับจากเดือนตุลาคม 2555 จนถึงปัจจุบันมีประมาณ 260 ราย จาก 49 สัญชาติ มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต 202 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคประจำตัวสูงถึง 54 ราย จาก 32 สัญชาติ และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีกองกำกับในการดูแลด้านการจราจรและการรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะ เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายของภูเก็ต เพราะหากเกิดเรื่องกับนักท่องเที่ยวเพียงรายเดียวก็จะส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ในวงกว้าง ทั้งนี้จากการที่ส่วนกลางส่งกำลังเข้ามาช่วย และมีการรวมพลังการทำงานจึงก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่ชัดเจน รวมถึงการตั้งส่วนคดีเกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่น และในส่วนของพื้นที่เองก็พร้อมที่ในการให้ความร่วมมือให้เกิดการทำงานที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 


สำหรับ พ.ต.อ.สมบูรณ์ สารสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ดีเอสไอ.ได้ร่วมกับกองปราบฯ จับกุมดำเนินคดีกรรโชกทรัพย์กับหัวหน้าคิวรถแท็กซี่ป้ายดำหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต จำนวน 2 คน ซึ่งการใช้มาตรการจับ ปรับกับรถแท็กซี่ป้ายดำนั้นไม่เป็นผลเท่าที่ควร แต่จะต้องดำเนินการในรูปแบบอื่นๆ ควบคู่กันไปภายใต้กรอบกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้แบ่งกลุ่มการทำงานออกเป็น 11 กลุ่ม เจาะหาข้อมูลผู้เกี่ยวข้องให้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย 


ส่วนนายธีระยุทธ ประเสริฐผล ผู้อำนวยการขนส่งจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตได้มีการจัดระเบียบรถแท็กซี่ป้ายดำมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งมีตัวเลขทั่วทั้งจังหวัดกว่า 3,500 คัน และได้มาขึ้นทะเบียนกับทางขนส่งฯ 2,882 คัน โดยได้จดทะเบียนเป็นรถป้ายเขียวหรือรถรับจ้างสาธารณะแล้วประมาณ 1,100 คัน ส่วนที่เหลืออีก1,700 คัน ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องติดปัญหาไฟแนนซ์และค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนป้ายสูงมากถึงคันละ 50,000 บาท โดยทางผู้ว่าฯได้เจรจากับธนาคาร ออมสินให้มาดูแลเพื่อ ปล่อยกู้ ซึ่งมีผู้ประกอบการได้ดำเนินการแล้วบางส่วน 


อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทางขนส่งฯ ได้ร่วมกับดีเอสไอ ตรวจ จับและปรับในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีรถแท็กซี่ป้ายดำเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นอีก 100 คันแล้ว และมีแนวโน้มว่าในช่วง 1-2 เดือนนี้จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 400 คัน นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นที่ปรับขึ้นประมาณ 30% และจะสอดคล้องกับนโยบายของการท่าฯ ที่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของรถให้บริการในการท่าฯ ด้วย นายธีระยุทธกล่าว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น