จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทต.วิชิต เปิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง



เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตำบลวิชิต (ติดกับสวนศรีภูวนาถ) หมู่ 1 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเมืองภูเก็ต เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตำบลวิชิต ดำเนินการโดยเทศบาลตำบลวิชิต 


โดยมีนายสาธิต กลิ่นภักดี ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต นางสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายประดิษฐ์ แสงจันทร์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายบุญศุภภะ ตันฑัยย์ นายสุทิน อุทัยธรรมรงค์ ที่ปรึกษา ส.ส.ภูเก็ต นายกรีฑา โชติวิชญ์พิพัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต สมาชิกสภาเทศบาลตำบลวิชิต ข้าราชการพนักงานเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลวิชิต ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วม 


นายกรีฑา โชติวิชญ์พิพัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต เปิดเผยว่า ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตำบลวิชิต เกิดจากการน้อมนำพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นแนวทางในการดำเนินงาน จุดเริ่มแรกของการทำงาน คือ การแก้ไขปัญหาขยะอย่างบูรณาการ ดังนั้นในปี 2551 จึงก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะแบบครบวงจรเทศบาลตำบลวิชิตขึ้น 


โดยการนำเศษกิ่งไม้ เศษพืชผัก อาหารอาหาร เศษผลไม้ จากสถานประกอบการในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถ่านไม้ น้ำส้มควันไม้ ปุ๋ยหมักชีวภาพ ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และน้ำยาอเนกประสงค์ เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชน เยาวชน ทั้งในและนอกพื้นที่ตำบลวิชิต


จึงมีแนวคิดขยายพื้นที่การเรียนรู้เพิ่มขึ้น จากการปรับปรุงพื้นที่บริเวณใกล้เคียง พร้อมกันนี้ทางเทศบาลตำบลวิชิตได้รับอนุเคราะห์ที่ดินจากนายเกียรติ ทองตัน นำมาใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลวิชิต เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ 


“เทศบาลตำบลวิชิตมุ่งหวังให้ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งสาธิต และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับชุมชน อีกทั้งเป็นความตั้งใจในการน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นวิถีการดำรงตน เพื่อให้ครอบครัว ชุมชน สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน อันเป็นผลดีให้จังหวัดภูเก็ตและประเทศชาติสืบไป” 


นายกรีฑา กล่าวด้วยว่า ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วน ได้แก่ พื้นที่เพาะปลูก พื้นที่เลี้ยงสัตว์ อาคารที่อยู่อาศัย “ศาลาทองตัน” ซึ่งเป็นอาคารอเนกประสงค์เพื่อต้อนรับผู้มาเยือน ขณะที่กิจกรรมภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ประกอบด้วย การปลูกพืชสมุนไพร การเลี้ยงปลาดุก การเลี้ยงสุกร การทำแก๊สชีวภาพ การเพาะเห็ด แปลงนาข้าวสาธิต และการจัดการขยะแบบครบวงจร 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น