จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

ศปอท.เตรียมขยายผลหาผู้อยู่เบื้องหลังแท็กซี่ป้ายดำ



นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวได้มีการประชุมร่วมกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนมีมติร่วมกันในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติร่วมเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยวหรือ ศปอท.ขึ้นที่ท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อแก้ไขปัญหารถรับจ้าง (แท็กซี่) 


ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่เป็นคนไทย และปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เป็นชาวต่างชาติที่ว่าจ้างคนไทยให้เป็นตัวแทนถือครองหลักทรัพย์ (นอมินี) โดย พ.ต.ท. สมบูรณ์ สารสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าพบและรายงานผลการปฏิบัติงานของ ศปอท.ระหว่างวันที่ 10 – 29 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า จากการที่ได้ร่วมกับสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต และชุดตรวจการเคลื่อนที่ กรมขนส่งทางบก ได้ตั้งจุดตรวจตามพื้นที่ต่างๆ ของ จ.ภูเก็ต จำนวน 6 จุด อาทิ ท่าอากาศยานภูเก็ต จุดตรวจทุ่งทอง เป็นต้น สามารถจับกุมรถแท็กซี่ป้ายดำได้จำนวน 434 คัน โดยได้มีการดำเนินคดีในข้อหาใช้รถผิดประเภท 


“นอกจากนี้ยังได้รายงานถึงแนวทางในการทำงานในห้วงระยะเวลาต่อไป โดยจะเรียกตัวผู้ขับรถแท็กซี่ป้ายดำที่ถูกจับกุมดังกล่าวมาสอบปากคำ เพื่อหาข้อมูลในการเชื่อมโยงไปยังบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังว่า จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร และสรุปเพื่อหามูลเหตุของการทำผิดกฎหมายต่อไป” 


นายไมตรี กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายทั่วไปนั้น ทางจังหวัดภูเก็ต โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการจัดระเบียบรถแท็กซี่ป้ายดำให้มาเข้าสู่ระบบ โดยให้มีการมาขึ้นทะเบียนเพื่อขอปรับเปลี่ยนจากรถแท็กซี่ป้ายดำมาเป็นรถป้ายเขียว ซึ่งมีการมาขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 2882 คัน และสามารถขึ้นทะเบียนป้ายเขียวได้แล้ว 1,133 คัน ส่วนที่เหลือที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังติดขัดในเรื่องของไฟแนนท์ เนื่องจากต้องใช้เงินทุนในการดำเนินการค่อนข้างสูง 


ทางจังหวัดก็ได้เข้าไปช่วยเหลือด้วยการประสานกับทางธนาคารออมสิน เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ซึ่งขณะนี้มีการให้ความช่วยเหลือแล้วในส่วนของสหกรณ์รถแท็กซี่กะรน ส่วนที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่พร้อมของเจ้าของรถเองที่ติดปัญหาในเรื่องของเครดิตบูโร กรณีรถลีมูซีนที่ให้บริการอยู่ที่สนามบินภูเก็ตจำนวน 2 บริษัท ขณะนี้สิ้นสุดสัมปทานแล้ว 


และทางการท่าฯ อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบของการให้เข้าบริการ โดยได้เสนอขอให้ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ตได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาต่างๆ ด้วย เพราะแม้ว่าสนามบินจะเป็นพื้นที่พิเศษ แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะต้องให้ทางจังหวัดเข้าไปช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็ได้ให้คำแนะนำด้วยว่า เพื่อลดแรงกระทบที่จะเกิดขึ้นตามก็จะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการรถลีมูซีนดังกล่าวควบคู่ไปด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น