จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

“จี้อี่” ออกโรงแจงปรับโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญาฯ



เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 ที่ห้องประชุมชั้น 3 เทศบาลนครภูเก็ต นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต พร้อมด้วยนายแพทย์โกศล แตงอุทัย รองนายกเทศมนตรีฯ นายธวัชชัย ทองมั่ง ปลัดเทศบาลนครภูเก็ต นายสุจินต์ อมตพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 


ร่วมกันชี้แจงถึงแนวทางการจัดการศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ต รวมทั้งกรณีการออกมาเรียกร้องของชมรมผู้ปกครอง พร้อมด้วยผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ เกี่ยวกับนโยบายการยุบชั้นเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาของโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ ซึ่งอยู่ในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต 


โดยนางสาวสมใจ กล่าวว่า ขณะนี้เทศบาลนครภูเก็ตมีโรงเรียนในความรับผิดชอบจำนวน 7 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเทศบาลวัดขจรรังสรรค์ โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญาในพระอุปถัมภ์ฯ โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต โรงเรียนเทศบาลอนุบาลนครภูเก็ต และโรงเรียนเทศบาลพิบูลย์สวัสดี มีเด็กนักเรียนรวมประมาณ 10,300 คน มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับศูนย์เด็กเล็กไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 


และจากการติดตามข้อมูล พบว่าจำนวนเด็กที่เข้าสู่ศูนย์เด็กเล็กและระดับอนุบาลเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น คนมีลูกน้อยลง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ มีการจัดการการศึกษาภายในท้องถิ่นเอง เป็นต้น ทำให้ผู้ปกครองลูกเข้าเรียนโรงเรียนใกล้บ้านแทน และเด็กที่เข้าศึกษาในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต พบว่า 50 % เป็นเด็กในพื้นที่ และอีก 50 % มาจากนอกพื้นที่ ซึ่งต่างจากเด็กในระดับชั้นมัธยมศึกษาซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 


“แนวทางการจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กนั้นได้คุยกันมา 5 – 6 ปีแล้ว โดยเฉพาะกรณีของเด็กที่สำเร็จการศึกษาชั้น ป.6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ว่าเมื่อสำเร็จแล้วจะไปศึกษาต่อที่ไหนเพราะจากข้อมูลพบว่าเด็กจบชั้น ป.6 ประมาณ 40 % เท่านั้นที่จะสามารถไปศึกษาต่อในโรงเรียนยอดนิยมระดับจังหวัด ส่วนที่เหลืออีก 60% ก็จะต้องเป็นภาระผู้ปกครองที่จะต้องหาสถานที่เรียนให้ ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวทางเทศบาลนครภูเก็ต จึงมองเรื่องการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา โดยเอาเด็กเป็นตัวตั้ง เพื่อเด็กสามารถศึกษาต่อและจบแล้วมีงานทำ นอกจากนี้ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย และควรจะต้องเริ่มตั้งแต่บัดนี้” 


นางสาวสมใจ กล่าวถึงกรณีที่เลือกโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญาในพระอุปถัมภ์ฯ จัดการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา ว่า เนื่องจากเป็นโรงเรียนแห่งแรกในสังกัดที่ได้จัดให้มีการศึกษาในระดับมัธยม และที่ผ่านมาก็สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางในการดำเนินการนั้น ไม่ได้ยุบการศึกษาระดับอนุบาลและชั้นประถมศึกษาในทันที แต่จะค่อยเป็นค่อยไป 


จากการหารือร่วมกันของหลายหน่วย ทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครูและสมาคมผู้ปกครอง ก็มีการนำเสนอในหลายแนวทาง ทั้งระยะ 2 – 3 ปี ระยะ 6 ปี และระยะ 8 ปี โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง และไม่กระทบกับผู้ปกครอง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการทำความเข้าใจมาอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะมีความเข้าใจผิดพลาดจึงเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งก็จะต้องมีการทำความเข้าใจกันต่อไป สำคัญคือให้มองถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็ก 


“แนวทางที่มีความเป็นไปได้ขณะนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 - 6 ปี ซึ่งแนวทางที่วางไว้ คือ นักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ขณะนี้ จะได้เรียนต่อจนสำเร็จชั้น ม.6 ส่วนในระดับชั้นอนุบาล 1 จะได้เรียนจนจบช่วงชั้นปฐมวัย ส่วนนักเรียนที่จบชั้นอนุบาล 2 ในปีการศึกษา 2556 ทางเทศบาลฯ ได้เตรียมสถานที่เรียนและให้สิทธิพิเศษในการเลือกโรงเรียนในสังกัดเทศบาลที่เปิดสอนชั้น ป.1 ทุกโรงเรียน ซึ่งจะทำให้โรงเรียนค่อยๆ ปรับเป็นโรงเรียนมัธยมเต็มรูปแบบ รวมทั้งการสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม เพื่อรองรับปริมาณเด็กที่เพิ่มขึ้น และสามารถจัดงบประมาณเพื่อนำมาใช้จัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” 


นางสาวสมใจ กล่าวถึงสาเหตุที่ไม่สร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งใหม่ ว่า เนื่องจากจะต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูง เฉพาะการสร้างอาคารก็ต้องใช้งบร่วม 500 – 600 ล้านบาท ยังไม่รวมในส่วนของที่ดิน และวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ แต่หากเราใช้โรงเรียนซึ่งมีสถานที่อยู่แล้วก็ใช้งบประมาณเพียง 100 กว่าล้านก็สามารถได้ทั้งในส่วนของอาคารเรียน และเพิ่มงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งก็จะได้วัสดุครุภัณฑ์ต่างๆ ที่สมบูรณ์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น