จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

อันดามันออกแบบการศึกษาสไตล์อันดามัน



เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดเวทีแลกเปลี่ยนการศึกษาในแบบฉบับอันดามันสไตล์ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดขึ้น โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดภูเก็ต สภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 


นายไมตรี กล่าวตอนหนึ่งของการเปิดสัมมา ว่า กลุ่มจังหวัดอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรังและระนอง ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองที่ชัดเจน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม ฉะนั้นในการจัดการศึกษาก็จะต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ในการศึกษาให้เกิดความเหมาะสม ทั้งระบบการสื่อสารระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ระบบเนื้อหา และอื่นๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้ได้ โดยเฉพาะภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวและผู้คนที่หลากหลาย ดังนั้นจะให้ความสำคัญเฉพาะเด็กภูเก็ตอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคำนึงถึงเด็กที่มาจากต่างจังหวัด แรงงานต่างด้าว และชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพในภูเก็ตด้วย 


ด้านดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดอันดามันมีรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2553 จำนวนกว่า 150,000 ล้านบาท คิดเป็น 75 %ของภาคใต้ และคาดว่าเมื่อเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 รายได้จากการท่องเที่ยวในโซนอันดามันจะเพิ่มขึ้นอีก 25% สิ่งสำคัญที่ต้องรับมือกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด คือ การพัฒนาคน ซึ่งที่ผ่านมาเราใช้ทุนที่เป็นเม็ดเงินและทุนทางธรรมชาติ เป็นปัจจัยการผลิตหลักของกลุ่มจังหวัดฯ หนทางเดียวที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมนี้มีความยั่งยืน 


และมีคุณภาพในระดับโลกได้ คือ การสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ โดยยกระดับการศึกษาในระบบสถานศึกษาและการพัฒนากำลังคนนอกสถานศึกษา ซึ่งมีตัวเลขสำคัญเกี่ยวกับปัญหาเด็กด้อยโอกาสและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่จังหวัดกว่า 12,000 ล้านบาท/ปี หากปล่อยไว้เท่ากับว่าจังหวัดจะสูญเสียทางเศรษฐกิจเทียบได้กับการโดนสึนามิโจมตี 1 ครั้งในทุก 5 ปี ซึ่งเหตุการณ์สึนามิทางธรรมชาติได้เห็นความร่วมมือในการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ ดังนั้นสึนามิทางการศึกษาก็สามารถจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบได้ 


ขณะที่นายนพพร สุวรรณรุจิ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค.กล่าวว่า ทิศทางการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อตัดเสื้อให้พอดีตัวกับเด็กและตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สสค.จึงสนับสนุนให้เกิดกลไกการทำงานในจังหวัดและท้องถิ่น เช่น สภาการศึกษา เป็นต้น ซึ่งจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ มีอยู่แล้วก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันก็มีบางจังหวัดที่สนใจในรูปแบบนี้ คือ พังงาและสตูล สำคัญ คือ การสนับสนุนให้เกิดเจ้าภาพในจังหวัดก่อน จากนั้นจะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างเจ้าภาพในการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ สสค.จะสนับสนุนให้มีการจัดทำฐานข้อมูลของเด็กและเยาวชนแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เจ้าภาพที่เกิดได้ใช้ประโยชน์ในการออกแบบทิศทางการศึกษา 


ด้านนายชวน ภูเก้าล้วน นายกสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ทิศทางการจัดการศึกษาของกลุ่มจังหวัดอันดามันจะต้องเป็นการถักทอเครือข่ายระหว่างสภาการศึกษาในแต่ละจังหวัดเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางการศึกษาร่วมกัน เพราะกระบี่และจังหวัดใกล้เคียงมีประสิทธิภาพสูงด้านการท่องเที่ยวและการประกอบอาชีพสาขาต่างๆ ซึ่งยังต้องใช้คนกว่า 10,000 คนมารองรับ จึงจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพเด็กให้มีความพร้อมด้านภาษาและทักษะอาชีพ การมีสภาการศึกษาก็เพื่อทำให้มีแรงงานฝีมือและมีคุณภาพ และอยากให้มีหน่วยกลาง 


เช่นเดียวกับหอการค้าไทยที่มีการประชุมกันทุกเดือนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น ซึ่งในส่วนการทำงานของสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ กิดจากความร่วมมือของจังหวัด ท้องถิ่น ภาคเอกชน และสถานศึกษา รวมทั้งผู้ปกครองหรือชุมชนมาร่วมเป็นสมาชิกกว่า 1,000 คน มีการประชุมทุกเดือน เพื่อหยิบยกปัญหาและปรับปรุงแก้ไขเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่ วิถีชีวิต และความต้องการของท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาการผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น และภาคธุรกิจต้องฝึกอบรมเพราะแรงงานขาดคุณภาพ และมีความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ 


สำหรับนายบัณฑูร ทองตัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันท้องถิ่นกำลังลุกขึ้นมาทำซุปเปอร์ไฮเวย์ทางการศึกษาด้วยตัวเอง โดยเดินหน้าจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัดเพื่อร่วมกันออกแบบการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์คนในท้องถิ่น และเป็นการจัดการศึกษาอย่างประณีตที่สอดรับกับคนทุกกลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ต ได้จัดเวทีสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดแนวคิดการจัดทำข้อกำหนดเพื่อจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต พร้อมกับระดมความเห็นถึงทิศทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัด ในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า 


โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนงานใน 11 กลุ่ม คือ 1.เด็กด้อยโอกาส เช่น ยากจน ไร้สัญชาติ ค้าแรงงาน ติดยาเสพติด 2.กลุ่มเด็กที่ต้องพัฒนาการศึกษาเป็นพิเศษ เช่น เด็กพิการ เด็กบกพร่องด้านการเรียนรู้ 3. กลุ่มสัมมาชีพ และเด็กที่เรียนสายอาชีวะ 4.การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ป.1-ป.6 5.การศึกษาผู้สูงวัย 6. การพัฒนาศักยภาพวัยแรงงาน 7. การศึกษาทางเลือก 8.การศึกษาในระดับอุดมศึกษา 9.การศึกษาในระดับปฐมวัย(0-6 ปี) 10 การศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) และ 11.การศึกษาที่กลุ่มผู้เรียนเลือกเรียนตามความสนใจ เช่นคอมพิวเตอร์ ดนตรี กีฬา เป็นต้น พร้อมกันนี้จะจัดทำฐานข้อมูลการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้รู้จำนวนที่แท้จริงของเด็กและที่อยู่ในระบบและนอกระบบการศึกษาต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น