จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

สกัดยุงลายให้สงบ สยบไข้เลือดออกปีหน้า



เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 ที่ห้องประชุมกลุ่มจังหวัดอันดามัน ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการเอาชนะไข้เลือดออกจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2556 ตามโครงการรณรงค์ควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกของชาติ ด้วยยุทธศาสตร์ “พลังแผ่นดิน เอาชนะไข้เลือดออก” ภายใต้ชื่อ“ชาวภูเก็ตร่วมใจสกัดยุงลายให้สงบ สยบไข้เลือดออกปีหน้า” 


โดยมีน.ส. สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนสถานศึกษาในพื้นที่กลุ่มเสี่ยงตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)เข้าร่วม 


นายไมตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก ด้วยพลังชุมชนเข้มแข็งจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ “พลังแผ่นดินเอาชนะโรคไข้เลือดออก” ด้วยการรวมพลังทุกภาคส่วน เป็นพลังแผ่นดินในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออก 


โดยยึดอำเภอเป็นฐานดำเนินการกำจัดตัวอ่อนและตัวแก่ของยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงอย่างต่อเนื่องในทุกสัปดาห์ในระยะเวลา 2 เดือน หรือ 8 สัปดาห์ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งในครั้งนี้กระทรวงมหาดไทยจะเป็นหน่วยงานหลัก โดยมีนายอำเภอเป็นผู้นำในการนำพาทุกภาคส่วนลงมือทำในฐานะเจ้าของพื้นที่และประธานศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะโรคไข้เลือดออกระดับอำเภอด้วยมาตรการเยี่ยมบ้าน และเคาะประตูบ้าน 


สำหรับจังหวัดภูเก็ต จะเริ่มปฏิบัติการ “ยุทธการต้านยุงลาย 333” รอบที่ 3 ประกอบด้วย กิจกรรม 3 วันแรกรุกรบ ระหว่างวันที่ 18 -20 กันยายน 2556 กิจกรรม 3 สัปดาห์เร่งรัด ระหว่างวันที่ 18 กันยายน - 9 ตุลาคม 2556 และกิจกรรม 3 เดือนรณรงค์ ระหว่างวันที่ 18 กันยายน–18 ธันวาคม 2556 โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นในชุมชน เพื่อจะทำการค้นหาผู้ที่มีไข้ในชุมชนละแวกบ้านที่พบผู้ป่วยไข้ 3 วัน ติดต่อกัน หากพบผู้ที่มีไข้ จะจ่ายยาทากันยุง 6 ซองต่อคน พร้อมทั้งแจกบัตรแนะนำผู้ที่สงสัยป่วยเป็นไข้เลือดออก 


ทั้งนี้ในบ้านที่พบผู้ที่มีไข้ จะทำการแจกสเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุง 1 กระป๋อง โดยให้เจ้าของบ้านฉีดพ่นทันทีติดต่อกัน 3 สัปดาห์ เพื่อกำจัดยุงที่มีเชื้อพร้อมทั้งแนะนำให้เจ้าของบ้านกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้าน รอบบ้าน ทุกสัปดาห์ “อย่าให้ยุงเกิด อย่าให้ยุงกัด” ส่วนในสถานศึกษานั้น ให้ครู หรือหัวหน้าชั้นสำรวจเด็ก นักเรียน นักศึกษา ที่มีไข้ในชั้นเรียนทุกวัน จ่ายยาทากันยุง พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งรับผิดชอบทราบเพื่อติดตามผลทุกระยะ 


นอกจากนี้ เน้นการประชาสัมพันธ์ ยุทธการ 333 เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชนตามสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ Big Cleaning Day เน้นการจัดการสิ่งแวดล้อม ขยะ และภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย พร้อมทั้งจัดให้มีการประกวดบ้านสะอาดปราศจากลูกน้ำยุงลาย และชุมชนสะอาดปราศจากลูกน้ำยุงลาย โดยมีรางวัลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอำเภอ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อีกด้วย นายไมตรี กล่าวในที่สุด 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น