จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

ทน.ภูเก็ตเปิดใช้โรงเตาเผาขยะมูลฝอยตัวที่ 2



เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 ที่โรงเผาขยะมูลฝอยชุมชน 2 เทศบาลนครภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดโรงเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชน ขนาดไม่น้อยกว่า 300 ตันต่อวัน และผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 5 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กำจัดขยะของจังหวัดภูเก็ต และมอบหมายให้เทศบาลนครภูเก็ตดูแล 


โดยมีนางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย สมาชิกวุฒิสภา จ.ภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารเทศบาลนครภูเก็ต ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วม 


น.ส. สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ในปี 2535 จังหวัดภูเก็ตและเทศบาลนครภูเก็ต ได้รับการสนับสนุนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำแผนหลักสำหรับสร้างระบบกำจัดขยะอย่างถูกหลักสุขาภิบาล โดยเสนอขอใช้ที่ดิน และได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลน คลองเกาะผี จากกรมป่าไม้ จำนวน 291 ไร่เศษ และได้แบ่งพื้นที่ก่อสร้างระบบจำกัดขยะแบบฝังกลบ 134 ไร่ โรงเตาเผาขยะ 46 ไร่ สร้างโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำ 33 ไร่ และพื้นที่แนวฉนวน 78 ไร่ โดยมอบหมายให้เทศบาลนครภูเก็ตเป็นหน่วยงานให้บริการรับกำจัดขยะจากทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ภายใต้การอำนวยการและกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ต


ต่อมาในปี 2536 ได้มีการก่อสร้างระบบฝังกลบมูลฝอยตามหลักสุขาภิบาล 120 ไร่ จำนวน 5 บ่อ ปัจจุบันมีการฝังกลบขยะเต็มพื้นที่แล้ว และไม่สามารถฝังกลบขยะเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ยังได้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียขยะ 14 ไร่ เป็นลักษณะแบบบ่อผึ่ง ในปี 2538 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ก่อสร้างโรงเตาเผาขยะชุมชนขนาด 250 ตันต่อวัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 2.5 เมกะวัตต์ และได้ถ่ายโอนให้กับเทศบาลนครภูเก็ตมาตั้งแต่ปี 2542 โดยได้มีการดำเนินการเผาขยะมาเป็นเวลา 13 ปีเศษ ปัจจุบันมีสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ 


ในปี 2551 ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นมากกว่า 500 ตันต่อวัน และมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี คาดว่าในปี 2562 ปริมาณขยะจะมีมากกว่า 1,000 ตันต่อวัน ขณะที่โรงเผาขยะมูลฝอยชุดเดิมสามารถกำจัดขยะได้เพียงวันละ 250 ตัน และมีการชำรุดบ่อย ทำให้ต้องนำขยะที่เหลือเทกองสะสมบนพื้นที่ฝังกลบที่มีปริมาณขยะเต็มพื้นที่ทั้ง 5 บ่อ ซึ่งมีปริมาณขยะมูลฝอยสะสมอยู่เดิมมากกว่า 1 ล้านตัน และไม่สามารถกำจัดได้อย่างถูกหลักสุขาภิบาล ก่อให้เกิดกลิ่น แมลงวัน และในช่วงฝนตกก็เกิดการปนเปื้อนของน้ำชะขยะ ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เป็นเหตุเดือดร้อนต่อชุมชน และสถานศึกษาในบริเวณใกล้เคียง 


จากปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว และด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขจะมีผลกระทบมากยิ่งขึ้น ทางเทศบาลจึงได้ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือทำการศึกษาความเหมาะสมของการกำจัดขยะของจังหวัดภูเก็ต และจากการวิ เคราะห์ความเหมาะสมด้านต่างๆ จึงเลือกใช้เทคโนโลยีเตาเผาขยะมูลฝอย เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยให้เอกชนลงทุนก่อสร้าง ซึ่งเป็นทางเลือกที่สามารถแก้ไขวิกฤตขยะได้ในขณะนั้น จึงจัดทำข้อกำหนดเชิญชวนและจัดหาเอกชนมาลงทุนก่อสร้างและบริหารโรงเตาเผา โดยคัดเลือกบริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ดำเนินการลงทุนก่อสร้างและบริหารโรงเตาเผา ขนาดไม่น้อยกว่า 300 ตันต่อวัน พร้อมระบบผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 5 เมกะวัตต์ และระบบบำบัดมลพิษตามมาตรฐานของกฎหมาย ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการกำจัดขยะและค่าจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งใช้พลังงานความร้อนจากขยะมาเป็นเชื้อเพลิง โดยมีระยะเวลารับสัญญาลงทุนก่อสร้างและบริหาร 14 ปี ไม่เกินวันที่ 29 ก.ค.66 


โดยโรงเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชนดังกล่าวได้ก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 มีมูลค่าการก่อสร้าง 940.6 ล้านบาท ซึ่งผู้ให้สัญญา คือ บริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด ได้สร้างเตาเผาขยะชุมชนขนาด 350 ตัน 2 ชุด สามารถเผาขยะชุมชนได้ 700 ตันต่อวัน ผลินกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 10 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้มีการทดสอบระบบ และสามารถเดินระบบได้เต็มประสิทธิภาพเป็นไปตามสัญญาเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการประกอบพิธีเปิดใช้อย่างเป็นทางการ น.ส.สมใจกล่าว 


ขณะที่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข กล่าวว่า จากปัญหาของจังหวัดภูเก็ตภูเก็ตซึ่งมีหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องคอยเฝ้าระวังมิให้เสื่อมโทรม ต้องบำบัดฟื้นฟูมิให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันสนับสนุนให้จังหวัดภูเก็ตมีโรงเตาเผาขยะชุมชนและผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นแบบอย่างการกำจัดขยะที่มีผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจ 


และแก้ไขปัญหาขยะของจังหวัดภูเก็ตได้ระยะหนึ่ง ความสำเร็จของการจัดการขยะแบบศูนย์รวมและการนำเทคโนโลยี การกำจัดขยะระบบเตาเผามาใช้ โดยการให้เอกชนมาร่วมดำเนินการนับเป็นเรื่องที่ดี การกำจัดขยะจากเตาเผาและผลิตกระแสไฟฟ้า ยังเป็นแบบอย่างที่สามารถลดปริมาณขยะได้อย่างรวดเร็ว และมีความเหมาะสมกับเมืองที่มีข้อจำกัดในเรื่องของที่ดินในการฝังกลบขยะ ส่วนเรื่องของเตาเผาที่ชำรุดก็จะได้ไปติดตามและเร่งรัดจัดหางบประมาณมาดำเนินการแก้ไขต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น