จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

รมว.ทรัพย์ฯ รับปากช่วยดันพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต



จากการที่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่ พร้อมทั้งเข้ารับฟังข้อเท็จจริงโครงการพัฒนาท่าเรือนน้ำลึกภูเก็ต พร้อมด้วยนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางภาวินี อินทุสุต รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคณะ 


ตรวจเยี่ยมและรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานของท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต โดยมีนายธำรงค์ ทองตัน ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต นายพงษ์ศักดิ์ จันทรมณี รองผู้อำนวยท่าเรือน้ำลึกสงขลา-ภูเก็ต บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจง 


สำหรับท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ได้ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลเพื่อเอื้ออำนวยในการส่งออกสินค้าหลักของภาคใต้ เช่น ยางพารา ไม้แปรรูปจากไม้ยางพารา เครื่องจักร แร่ เป็นต้น และนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น ปลาทูน่า เครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ ทำหน้าที่บริหารและดูแลส่วนของท่าเรือที่อยู่บนบก เช่น ตัวท่าเทียบเรือ อาคารและสถานที่ ลานพักสินค้า เครื่องมืออุปกรณ์ เรือลากจูง เป็นต้น โดยส่วนราชการดูแลและซ่อมบำรุงส่วนที่อยู่ในน้ำ เช่น ทุ่นและเครื่องหมายการเดินเรือ ร่องน้ำ เป็นต้น 


ปัจจุบันปัญหาของท่าเรือภูเก็ต คือ ความยาวหน้าท่าไม่เพียงพอจอดเรือพร้อมกัน 2 ลำ เรือสินค้าขนาดใหญ่จำเป็นต้องรอให้เรือโดยสารออกจากท่าก่อน จึงเข้าเทียบท่าได้ หรือหากกำลังทำงานอยู่ก็ต้องออกไปทอดสมอ เพื่อให้เรือโดยสารเข้าเทียบท่า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับผู้โดยสาร ปัจจุบันใช้วิธีการจัดตั้งเต็นท์บริการชั่วคราว นอกจากนี้การใช้พื้นที่หน้าท่า และเส้นทางจราจรปะปนกับการขนถ่ายสินค้า ทำให้มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย 


ส่วนแนวทางแก้ปัญหา และโครงการพัฒนาท่าเรือภูเก็ต จะต้องมีการขยายความยาวของท่าเทียบเรือออกไปทางทิศใต้อีก 60 เมตร โดยทำเป็นหลักเทียบเรือ 2 หลัก ให้สามารถจอดเรือขนาดใหญ่พร้อมกันได้ 2 ลำ แบ่งแยกพื้นที่และเส้นทางจราจรระหว่างสินค้าและผู้โดยสารออกจากกันเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ก่อสร้างถนนและลานจอดรถสำหรับจอดรถโดยสารรับส่งนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาท่าเรือนั้นได้มีการเริ่มศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ต้นปี 2554 และมีการแก้ไขแล้วจำนวน 2 ครั้ง แต่ยังไม่ผ่านอยู่ระหว่างรอการนัดหมายประชุมของคณะกรรมการดังกล่าว 


ขณะที่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังรับฟังการประชุมว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือฯ มีความจำเป็นในการรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในส่วนของการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจากที่ได้รับฟังข้อมูลและตรวจสอบพื้นที่จริงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ขอให้ทางผู้เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลต่างๆ ให้พร้อม รวมทั้งให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สผ.และคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ในส่วนของตนจะได้ไปช่วยดูแลเสนอข้อมูลด้วย เพราะหากสำเร็จก็จะเป็นประโยชน์กับจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งจะเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น