จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

สสจ.ภูเก็ต ติวเข้มการรักษาโรคด้วยสมุนไพร



เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 ที่ห้องประชุมมะฮอกกานี โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นายบัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง การรักษาโรคด้วยสมุนไพร เพื่อให้ความรู้เรื่องการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรในบัญชีหลักแห่งชาติ โดยเน้นการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคกล้ามเนื้อและโครงสร้าง 


อันเป็นผลมาจากการที่ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้จัดทำ CPG หรือ แนวทางเวชปฏิบัติด้านการแพทย์แผนไทยในโรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ กับโรคระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้าง โดยมีแพทย์ เภสัชกร พยาบาล พยาบาลเวชปฏิบัติ แพทย์แผนไทย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม จำนวน 50 คน 


นายบัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายยาแห่งชาติ ในปี 2553 พบว่า คนไทยบริโภคยาคิดเป็นมูลค่ากว่า 130,000 ล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นยาแผนปัจจุบันที่ต้องนำเข้าสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ยาต่างประเทศ นอกจากจะเป็นภาระทางเศรษฐกิจสูงแล้ว ยังทำให้ไม่สามารถพึ่งพิงตนเองได้ในระยะยาว ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในลักษณะของสมุนไพรและยาไทยอยู่เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลดังกล่าวทำให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข


โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เห็นความสำคัญและมีการพัฒนายาไทยและสมุนไพร รวมทั้งสนับสนุนการใช้มาตั้งแต่ปี 2550 โดยกำหนดตัวชี้วัดเรื่องร้อยละของผู้ป่วยนอกที่ได้รับบริการการแพทย์แผนไทย และมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกระดับ และในปีงบประมาณ 2556 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้กำหนดตัวชี้วัดเกี่ยวกับการบริการแพทย์แผนไทยว่าร้อยละ 14 ของผู้ป่วยนอกจะได้รับบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ได้มาตรฐาน และมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 


“ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะพึ่งพายาแผนปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละปีจะมีมูลค่าค่อนข้างมาก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบเพื่อลดการใช้ยาและมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนการใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับวิทยากรที่มาให้ความรู้ คือ นพ. ฉัตรชัย สวัสดิไชย นายแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลพระปกเกล้า เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านสมุนไพร ซึ่งปัจจุบันหาได้น้อยมาก จะทำให้เห็นมุมมองระหว่างการใช้ยาสมุนไพรและยาแพทย์แผนปัจจุบันที่มีความกลมกลืนมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องและถูกวิธี ทำให้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างครบวงจรหรือบูรณาการ ระหว่างแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบัน” 


นายบัญชา กล่าวด้วยว่า สำหรับจังหวัดภูเก็ตได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาการใช้สมุนไพรให้ครอบคลุม ภายใต้เป้าหมายหลักคิดที่ว่า เมื่อผู้ป่วยเข้ามาโรงพยาบาลเน้นรักษาแบบแพทย์ตะวันตก ใช้ยารักษาแผนปัจจุบัน แต่กรณีของสถานพยาบาลที่ไม่มีแพทย์ คือ สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นจุดที่จะสามารถพัฒนาแพทย์แผนไทยได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นการทำให้สถานีอนามัยมีคุณค่าในการให้บริการผู้ป่วย และในอนาคตอาจจะมีผู้ที่สนใจที่จะรับการรักษาแบบแพทย์แผนไทยที่สถานีอนามัยมากขึ้น เพราะมีบริการที่ครบวงจรและมีมาตรฐาน 


อย่างไรก็ตามจะเน้นให้สถานีอนามัยทุกแห่งขับเคลื่อนการใช้ยาสมุนไพรตามนโยบาย ซึ่งมีบัญชีรายการยากว่า 20 ชนิด ตามกรอบของกระทรวง และในโรงพยาบาลของรัฐก็มีแผนกแพทย์แผนไทยที่ให้บริการประชาชน ทั้งเรื่องของยาสมุนไพรและการนวดประคบ เพียงแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้ป่วยมากนัก เพราะส่วนใหญ่เน้นการรักษาตามแผนปัจจุบัน แม้ว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น คนไข้ติดเชื้อไวรัส ไวรัสลงตับ มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งบางคนรักษาหายได้หรืออาการดีขึ้นจากการใช้ยาสมุนไพร จึงถือได้ว่ายาสมุนไพรจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคได้ในอนาคต นายบัญชากล่าว 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น