จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

เตรียมพร้อมเฝ้าระวังเชื้อไข้หวัดนก ชนิดเอช 7 เอ็น 9



นายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึง สถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ในประเทศจีน ข้อมูลจากศูนย์ข่าวกรอง สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 3 เมษายน 2556 พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 7 ราย จากมณฑลเจียงซู 4 ราย มณฑลเซี่ยงไฮ้ 2 ราย และมณฑลอานฮุย 1 ราย เป็นหญิง 4 ราย ชาย 3 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยอายุของผู้ป่วยทั้ง 7 ราย อยู่ในช่วง 27 – 87 ปี ผู้ป่วย 2 ราย มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกก่อนป่วย 


แต่ผู้ป่วยทุกรายไม่มีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาซึ่งกันและกัน ทั้งนี้อยู่ระหว่างหาสาเหตุการติดเชื้อ เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 เคยพบรายงานในสัตว์ปีกในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นมาก่อน แต่ไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์นี้ในคน สำหรับการติดเชื้อในคนครั้งนี้ ยังไม่พบหลักฐานการแพร่เชื้อจากคนสู่คน และไม่พบการติดเชื้อในผู้สัมผัส ประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานพบเชื้อนี้มาก่อน เคยพบเฉพาะสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ในช่วงปี 2547 – 2549 และไม่มีรายงานติดต่อกันจนถึงขณะนี้มากกว่า 5 ปี 


นายแพทย์บัญชา ค้าของ กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดภูเก็ตยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในคนและในสัตว์ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2556 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งสิ้น 290 ราย อัตราป่วย 84.04 ต่อแสนประชากร และมีจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบทั้งสิ้น 142 ราย อัตราป่วย 41.15 ต่อแสนประชากร ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ทั้งนี้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี ย้อนหลัง และสูงกว่าปี 2555 ในช่วงเวลาเดียวกัน 


เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้มีมาตรการสำคัญโดยเน้นการเฝ้าระวังผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจและมีอาการรุนแรง ได้แก่ โรคปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ทุกรายอย่างต่อเนื่องทั้งในโรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุข และชุมชน เพื่อตรวจจับสัญญาณการระบาดได้ทันท่วงที การตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาล การป้องกันควบคุมโรค การเตรียมความพร้อมของทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ทุกระดับตลอด 24 ชั่วโมง การเฝ้าระวังโรคในสัตว์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขในการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยของคนในชุมชนและการป่วยตายของสัตว์ปีก ตลอดจนสื่อสารการป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่ประชาชน 


ทั้งนี้นายแพทย์บัญชา ค้าของ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการป้องกันโรคไข้หวัดนกไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการคลุกคลีสัมผัสกับสัตว์ปีก ไม่นำสัตว์ปีกที่มีอาการหงอย ซึม ขนยุ่ง หรือซากสัตว์ปีกมาชำแหละและรับประทานอย่างเด็ดขาด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือปศุสัตว์ และให้ยึดหลัก กินสุกร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ หลังสัมผัสสัตว์ปีก สิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกด้วยสบู่และน้ำ หากมีอาการไข้ ไอ โดยเฉพาะผู้มีอาชีพเลี้ยง ฆ่า ขนส่ง ขนย้าย และขายสัตว์ปีก หรือเกี่ยวข้องกับ สัตว์ปีกให้รีบไปพบแพทย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น