จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

ดีเอสไอ- ปปง. ตรวจบุกรุกที่ดินอุทยานฯ สิรินาถ



เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 ที่ห้องประชุมที่ทำการอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายชาญชัย พงศ์ภัสสร ผอ.กองคดี 3 รับผิดชอบพื้นที่ภาค 7-10 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และนายจีระศักดิ์ ชูตามดี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) 


ร่วมเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์และการปราบปรามการบุกรุก ยึดถือและครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยมีนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมร่วมหารือ 


พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ กล่าวภายหลังร่วมประชุมว่า ดีเอสไอ ได้รับการร้องขอให้มาช่วยตรวจสอบเรื่องของพยานหลักฐานที่ทางอุทยานฯ ได้เคยดำเนินการมาแล้ว แต่อาจจะมีปัญหาอุปสรรค ทั้งในเรื่องของการปฏิบัติงาน เรื่องของเอกสาร เรื่องข้อกฎหมายและวิธีการตรวจสอบ ซึ่งจากการรับทราบข้อมูลจากทางอุทยานฯ พบว่ามีร่องรอยพิรุธอยู่หลายเรื่อง ซึ่งจะต้องมาดูรายละเอียดข้อมูลของแต่ละแปลงอีกครั้ง เบื้องต้นยังไม่ได้มีการรับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีการใช้นอมินีเข้ามาถือครอง ต่างจากอดีตที่มีผู้ครอบครองจริงมาแสดงตน 


“การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อมารับทราบข้อมูลในส่วนที่ทางกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมือกันทั้งของกรมอุทยานฯ ดีเอสไอและ ปปง. ภายใต้แนวคิดการทำงาน โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย และเป็นจุดเริ่มต้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบของการตรวจสอบที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในบางเรื่องที่ตรวจสอบได้ง่ายทางกรมอุทยานฯ ก็อาจจะดำเนินการได้เอง บางเรื่องที่มีลึกและซับซ้อนก็อาจให้ทางดีเอสไอเข้ามาช่วยตรวจสอบ โดยจะได้มีการจัดลำดับความสำคัญร่วมกัน และจะได้มีการหารือร่วมกันที่ส่วนกลางอีกครั้ง หากพบมีความสำคัญมากๆ ก็จะได้เสนอเป็นคดีพิเศษต่อไป”พ.ต.ท.ประวุธกล่าว


ขณะที่นายชาญชัย พงศ์ภัสสร ผอ.กองคดี 3 รับผิดชอบพื้นที่ภาค 7-10 สำนักงาน ปปง.กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายใหม่ของ ปปง. ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหนึ่งใน 24 ความผิดมูลฐานของ ปปง.และทางกรมอุทยานฯ ได้ร้องขอมายัง พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.เพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานกัน การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อมารับทราบข้อมูลต่างๆ ว่าจะสามารถดำเนินการตามกฎหมายของ ปปง.ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร 


เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำผิดและนำทรัพยากรกลับมาเป็นของแผ่นดิน โดยคดีอาญาเป็นหน้าที่ของท้องที่นั้นหรือดีเอสไอ ส่วน ปปง.จะดำเนินการคดีทางแพ่ง โดยอาจนำมูลฐานความผิดอื่นๆ มาประกอบ เช่น มาตรา 157 การละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งนี้การตรวจสอบหรือการดำเนินการต่างๆจะต้องไม่กระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวหรือการลงทุนต่างๆ แต่หากปล่อยไปทุกอย่างจะส่งผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจ เช่น การนำเอกสารสิทธิ์ไปจำนองกับสถาบันการเงินต่างๆ 


ทางด้านนายจีระศักดิ์ ชูตามดี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) กล่าวว่า การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลและวางกรอบแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกรมอุทยานฯ ดีเอสไอและ ปปง.โดยเฉพาะเรื่องการเพิกถอนเอกสารที่ไม่ชอบในเขตอุทยานฯ เนื่องจากการดำเนินงานที่ผ่านมายังมีปัญหาอุปสรรคพอสมควร ในเรื่องของข้อมูลและเอกสารต่างๆ ที่จะนำมาใช้ประกอบในการทำสำนวน ซึ่งการทำงานร่วมกันจะทำให้สามารถอุดช่องว่างช่องโหว่งต่างๆ ได้ 


ในส่วนของนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบุกรุกและถือครองที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ว่า ในการตรวจสอบได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะๆ ระยะที่ 1 ตรวจสอบการถือครองเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่อุทยานฯ จำนวน 11 แปลง เนื้อประมาณ 600 ไร่ พบว่าแต่ละแปลงได้มีการพัฒนาหรือสร้างโรงแรม-รีสอร์ท หรู และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยขั้นตอนทั้งหมดอยู่ระหว่างพนักงานสอบสวนในพื้นที่รับผิดชอบ ส่วนหนึ่งได้ส่งไปยังกรมอุทยานฯ เพื่อประมวลเรื่องส่งต่อให้กรมที่ดินทำการเพิกถอนเอกสารสิทธิตามที่คณะทำงานเห็นชอบว่า อาจมีการออกคลาดเคลื่อนหรือออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ซึ่งการทำงานร่วมกันกับดีเอสไอและ ปปง.ก็จะได้มาวางแนวทางการปฏิบัติต่างๆ เพื่อตรวจสอบเชิงลึกกรณีที่ดินทั้ง 11 แปลงหลักๆ 


ระยะที่ 2 มีการตรวจสอบเพิ่มอีก 7 แปลง เนื้อที่ประมาณ 400-500 ไร่ โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างกาอ่านแปลภาพถ่าย ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว 5 แปลง ยังคงเหลืออีก 2 แปลงอยู่ระหว่างการเดินสำรวจภาคพื้นดิน คาดว่าจะประมวลเรื่องและสรุปผลการตรวจสอบส่งต่อให้กรมอุทยานฯ ดีเอสไอและ ปปง. ซึ่งจากข้อมูลที่พบเบื้องต้นมีบางแปลงน่าจะออกเอกสารสิทธิ์โดยคลาดเคลื่อนหรือโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และระยะที่ 3 เป็นการตรวจสอบตามที่ตั้งเป้าหมายไว้อีกประมาณ 10 แปลงใหญ่ๆ เนื้อที่รวมกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบเหมือนกับสองระยะที่ดำเนินการไปแล้ว โดยการก่อสร้างต่างๆทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเริ่มมีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2542 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่จากภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นได้ว่าในปี 2493 พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นป่าสมบูรณ์ ไม่มีการเข้าไปทำประโยชน์ นายชีวะภาพกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น