จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เตรียมจัดงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระราชินี



เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นางณัฐพร ผาณิตพิเชฐวงศ์ ประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าว การจัดกิจกรรม “พลังสตรีภูเก็ตร่วมเทิดไท้องค์ราชินี” เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระชนมพรรษาครบรอบ 81 ปี และเป็นวันแม่แห่งชาติ 


ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ตั้งแต่เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป เพื่อเป็นการรวมพลังสตรีจังหวัดภูเก็ตได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแด่องค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 


ตลอดจนเพื่อร่วมกันสร้างคุณงามความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเป็นกิจกรรมที่ประทาน ความรัก ความสามัคคีในพลังสตรี โดยได้รับเกียรติจากนางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดภูเก็ต ในฐานะประธานกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน 


“การจัดงานดังกล่าว เป็นการรวมพลังสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจาก 16 ตำบลของจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า ซึ่งกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การวางพานพุ่มเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดภูเก็ตและตัวแทนกองพัฒนาบทบาทสตรีตำบล พิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล 


และถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พิธีมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ตำบลละ 3 ทุน ทุนละ 1,500 บาท รวมทั้งสิ้น 48 ทุน เป็นจำนวนเงิน 72,000 บาท รวมทั้งมอบเกียรติบัตรให้กับแม่ดีเด่นแต่ละตำบล เพื่อความภาคภูมิใจและเกียรติประวัติของครอบครัวด้วย” 


นางณัฐพร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกองทุนพัฒนาสตรีจังหวัดภูเก็ตมีสมาชิกประมาณ 13,000 คน โดยเป้าหมายในปีนี้จะเชิญชวนสตรีเข้าร่วมเป็นสมาชิกให้ได้ประมาณ 20,00-25,000 คน ซึ่งจากเงินกองทุนที่ได้รับจำนวน 70 ล้านบาท ขณะนี้ได้มีการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มสมาชิกแล้วประมาณ 20 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะมีการขอกู้มากขึ้น โดยโครงการที่มีการนำเสนอเพื่อขอกู้ยืมเงินจากทางกองทุนนั้นมีหลากหลายอาชีพ 


ส่วนใหญ่จะเป็นการต่อยอดจากโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร อาชีพตัดเย็บ ซักรีด เป็นต้น ซึ่งในส่วนของโครงการที่มีการนำเสนอมาแล้ว และเมื่อพิจารณาแล้วพบว่าอาจจะมีปัญหาทางคณะกรรมการฯ ก็จะเข้าไปช่วยดูแลและให้คำแนะนำปรับปรุงในการเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งจะมีการตรวจสอบก่อนที่จะมีการอนุมัติ และในการชำระเงินคืนให้กับกองทุนนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการฯ ในการติดตามโดยเฉพาะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น