จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ราชภัฎภูเก็ตจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทย



เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นายดิสัน แหล่ทองคำ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน วันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2556 ซึ่งทางคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต จัดขึ้น โดยมีนายทวิชาติ อินทรฤทธิ์ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต นายธวัชชัย ทุมทอง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณาอาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต คณะครู และนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมกว่า 500 คน 


สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การบรรยาย เรื่อง “ภาษาใต้ ฟังได้ หรอยแรง” โดยนายจุมพล ทองตัน หรือ “โกไข่” ศิลปินเพลงชื่อดัง การจัดทำวรรณสารฉบับวันภาษาไทยแห่งชาติ การจัดทำจุลสาร “ฤาเพราะภาษาไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย” การแข่งขันคัดไทยระดับประถมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาตอนต้น การแข่งขันอ่านฟังเสียงระดับประถมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาตอนต้น การแข่งขันร้องเพลงลูกทุ่งประกอบรีวิว การแข่งขันตอบคำถาม “ผู้รอบรู้เรื่องประชาคมอาเซียน” การแสดงสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย การแสดงละคร การจัดแสดงแฟชั่นโชว์ “รวมความหลากหลายในอาเซียน” และการจัดนิทรรศการของนักศึกษา 


นายธวัชชัย ทุมทอง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ กล่าวว่า ทางคณะได้จัดการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้น เป็นประจำทุกๆ เพื่อต้องการให้นักเรียน นักศึกษา เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย เพราะนอกจากจะเป็นภาษาประจำชาติไทยแล้ว ยังแสดงถึงความเป็น เอกลักษณ์ทางภาษาที่ควรค่าแก่การหวงแหน และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ชาติดำรงอยู่ได้อย่างเป็นปึกแผ่นอยู่ทุกวันนี้ และกิจกรรมในครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 


ดังคำกล่าวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งมีพระราชดำริเกี่ยวกับภาษาในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ความเป็นชาติไทยโดยแท้จริง” ความตอนหนึ่งว่า “ภาษาเป็นเครื่องผูกพันของมนุษย์ที่แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น และไม่มีสิ่งไรที่จะให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันดีหรือแน่นอนยิ่งไปกว่าพูดภาษาเดียวกัน” จากพระราชดำริดังกล่าวจะเห็นว่าความสำคัญของภาษานั้นมีคุณค่ามากมาย เราในฐานะเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ ความคิด ปลูกฝัง คุณค่า และคุณงามความดีของสิ่งต่างๆ ในสังคมท้องถิ่นให้คงดำรงอยู่ อันนี้จึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องสานต่อ อนุรักษ์ รักษา ให้คงไว้ซึ่งคุณค่าความเป็นไทยในทุกรูปแบบ


ด้านนายดิสัน กล่าวด้วยว่า การจัดงานในลักษณะนี้ ถือเป็นการเสริมสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้แก่ชนในชาติ เป็นกิจกรรมที่ควรยกย่องสรรเสริญ เพราะทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันอ่านฟังเสียง การคัดไทย การแสดงเพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย การแสดงละคร การแข่งขันตอบคำถาม และการแข่งขันร้องเพลงลูกทุ่งประกอบรีวิว ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่สร้างความตระหนักให้เยาวชน นักศึกษา 


ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม เกิดความรัก ความหวงแหนภาษาไทยมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการเสริมสร้างค่านิยมในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ซึ่งมีความหวังไว้ว่าหน่วยงาน องค์กรอื่นๆ คงจะมีการดำเนินการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ลักษณะนี้ต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้เพื่อได้ร่วมกันปลูกฝัง อนุรักษ์ คุณค่าและสิ่งดีๆ ให้คงอยู่ในสังคมนี้ตลอดไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น