จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

“เชิดชูภูมิปัญญา สหวิทยาสู่สากล”



เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 ที่ห้องประชุมเล็ก ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ดร.วิทยา เจียรพันธุ์ นายกสมาคมนักวิจัย เป็นประธานเปิดการประชุมนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ภายใต้หัวข้อ “เชิดชูภูมิปัญญา สหวิทยาสู่สากล” ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ร่วมกับสมาคมนักวิจัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จัดขึ้น

 

โดยมี ผศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต คณบดีภาควิชาต่างๆ นักวิจัยทั้งอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จากทั่วประเทศเข้าร่วม ทั้งนี้มีผลงานวิจัยที่นำเสนอ 3 สาขา คือ สังคมศาสตร์ การศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรูปแบบของภาคการบรรยายและภาคโปสเตอร์ จำนวนกว่า 60 เรื่อง

ในโอกาสเดียวกันนี้ยังได้เชิญ นายไมตรี อินทุสุต รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ปาฐกถาพิเศษก่อนการนำเสนอผลงาน เกี่ยวกับการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า งานวิจัยที่ผลิตออกมานั้นควรที่จะนำออกมาเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง และควรใช้คำพูดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย เพราะที่ผ่านมางานวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นภาษาของนักวิจัยทำให้เข้าใจและเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นงานทางวิชาการจะต้องตอบโจทย์ของสังคมให้ได้ โดยเฉพาะการรับใช้สังคมให้ได้อย่างแท้จริง

ทางด้าน ดร.วิทยา เจียรพันธุ์ นายกสมาคมนักวิจัย กล่าวว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และข้อคิดเห็นจากผลงานวิจัยของนักวิจัยที่นำมาเสนอ ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตผลงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะผลงานวิจัยจะเป็นตัวชี้วัดต่อระดับมาตรฐานการศึกษา และการวิจัยสร้างสรรค์ของสถาบันอุดมศึกษา ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนและพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถของนักวิจัยไทยให้มีความเป็นเลิศ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งความมุ่งมั่นสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ และพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยระดับปฏิบัติการให้เป็นนักวิจัยมืออาชีพตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของสมาคมนักวิจัยเอง

“จากหัวข้อการประชุมนำเสนอผลงานวิจัยที่ว่า เชิดชูภูมิปัญญา สหวิทยาสู่สากล นั้น เพื่อต้องการสื่อให้เห็นความสำคัญของการบูรณาการองค์ความรู้และภูมิปัญญาจากหลากลหายสาขาวิชา เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ แล้วนำไปเผยแพร่ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้แต่ละท้องถิ่นสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมของตน และเรียนรู้สหวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เดิมให้ตอบสนองกับความต้องการของสังคมและชุมชน”

ดร.วิทยา กล่าวด้วยว่า ในอดีตสังคมไทยได้สั่งสมประสบการณ์และความรู้จนตกผลึกเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถตอบสนองความต้องการ และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ภูมิปัญญาดังกล่าวได้รับการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการหลั่งไหลของวัฒนธรรมต่างชาติและวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย เราจึงจำเป็นต้องเปิดรับการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ ในขณะที่ยังต้องสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่ ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะปรับใช้ความรู้เดิมกับความรู้ใหม่จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมต่อความอยู่รอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดร.วิทยา ยังกล่าวด้วยว่า ในปี 2558 ประเทศไทยเตรียมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายส่งเสริมเชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมอันเป็นอัตลักษณ์ของชาติเพื่อเข้าร่วมเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน กับบรรดาประเทศสมาชิกอื่นๆ ในฐานะที่เป็นสมาชิกของประชาคมบ้านเดียวกัน ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาระหว่างกัน เพื่อสร้างเครือข่ายวิชาการในระดับนานาชาติ สมาคมฯ จึงเล็งเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้เดิมในหลายๆ สาขาที่มีอยู่ให้มีความเข้มแข็งและความเป็นเลิศ สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และพัฒนาขีดความสามารถของนักวิจัยไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น