จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

พัฒนาเขื่อนบางวาดเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 54 ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองกะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เป็นประธานการประชุมกลุ่มย่อยโครงการออกแบบวางแผนแม่บทพัฒนาหัวงานเขื่อนบางวาดและอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ซึ่งทาง อบจ.ภูเก็ตได้ว่าจ้างบริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยีจำกัด เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและวางแผนแม่บทในการพัฒนาดังกล่าว เป็นผู้ดำเนินการ
เพื่อนำเสนอแนวคิดในการวางแผนผังแม่บท การออกแบบโครงการพัฒนาเบื้องต้น ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการออกแบบ เพื่อจะได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาโครงการในลำดับต่อไป โดยมีหน่วยงานและตัวแทนชุมชน ประกอบด้วย โครงการชลประทาน ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ทางหลวงชนบทจังหวัดภูเก็ต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้ เข้าร่วม
นายไพบูลย์ กล่าวว่า พื้นที่เขื่อนบางวาดและอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำที่สำคัญของเกาะภูเก็ต ซึ่งใช้ประโยชน์ทั้งในด้านเกษตรกรรมและการผลิตน้ำประปาให้บริการแก่ชุมชน สภาพแวดล้อมโดยรอบอ่างเก็บน้ำมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ต่อเนื่องกับผืนป่า และแนวเขาตอนกลางของเกาะภูเก็ต จึงทำให้เกิดทิวทัศน์ที่สวยงาม สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว
นอกจากความสวยงามทางธรรมชาติและอรรถประโยชน์ ต่อชุมชนชาวภูเก็ตแล้ว ด้วยทำเลที่ตั้งของเขื่อนบางวาดและ อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชุมชน และสามารถเข้าถึงได้ด้วยถนนสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่เกาะภูเก็ต ฝั่งตะวันออกกับพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญบริเวณหาดป่าตอง จึงทำให้ เขื่อนบางวาดและอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำมีศักยภาพในการพัฒนา ให้เป็นแหล่งนันทนาการชุมชนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้เป็นอย่างดี
ด้านนายทรงกริช สรรพกิจ กรรมการบริหาร บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาเขื่อนบางวาดนั้นได้กำหนดแนวคิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน กิจกรรม และพื้นที่ใช้สอย แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนบริการ (Service Zone) ได้แก่ พื้นที่ลานจอดรถและสวนสาธารณะเดิมของโครงการเสนอให้มีการพัฒนาเป็นส่วนพักผ่อนหย่อนใจและเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าถึงโครงการ, ส่วนประชุมสัมมนา (Seminar Zone) ได้แก่ บริเวณบ้านพักสวัสดิการเดิมของกรมชลประทาน เสนอให้พัฒนาเป็นอาคารประชุมสัมมนารับรองผู้เข้าร่วมประชุมได้ประมาณ 200 คน,
ในส่วนของสวนแสดงพันธุ์ไม้พื้นถิ่นและสวนสาธารณะ (Botanic Garden and Recreation area) ได้แก่ บริเวณด้านทิศตะวันตกของโครงการ เสนอให้พัฒนาเป็นสวนสาธารณะที่เชื่อมต่อเข้ากับแนวสันเขื่อนในรูปแบบอาคารแสดงพันธุ์ไม้พื้นถิ่นภาคใต้ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาและเยาวชนในพื้น, ส่วนกิจกรรมผจญภัยและสันทนาการเชิงสุขภาพ ได้แก่ พื้นที่บริเวณด้านทิศใต้ของสันเขื่อนบริเวณเกาะกลางผืนน้ำ เสนอให้พัฒนาเป็นกิจกรรมผจญภัยโดยเน้นรูปแบบสันทนาการเชิงสุขภาพ และตอบรับกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เข้าค่ายพักแรม ผู้สัมมนาเป็นหมู่คณะหรือผู้สนใจทั่วไปที่ชื่นชอบการผจญภัย ทั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินการ 250-300 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น