จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ผู้ว่านำกำลังรื้อเต็นท์บนหาดกะรนรอบสอง



เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 54 ที่บริเวณหน้าหาดกะรน นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยพล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายวิโรจน์ สุวรรณวงศ์ ป้องกันจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.กฤตภาส เดชอินทรศร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรฉลอง และนายทวี ทองแช่ม นายกเทศมนตรีตำบลกะรน นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจังหวัดภูเก็ต อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอเมืองภูเก็ต เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรฉลอง และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลกะรน ประมาณ 50 นาย เข้าทำการรื้อเต็นท์ผ้าใบจำนวนประมาณ 2 – 3 หลัง ซึ่งมีการติดตั้งเพื่อใช้เป็นที่ปรุงอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายบนชายหาดกะรนหน้าโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ตามนโยบายจัดระเบียบชายหาดของจังหวัดภูเก็ต หลังจากเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา ทางชุดปฏิบัติการจังหวัดภูเก็ตได้สนธิกำลังจากภาคส่วนต่างๆ ดังกล่าวทำการรื้อถอนเพิงขายอาหาร พื้นที่ปรุงอาหารและห้องสุขา ลักษณะเป็นอาคารถาวรและเต็นท์จำนวน 10 หลัง ในพื้นที่บริเวณเดียวกันไปแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 44 พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องที่มาตรา 122
นายตรี กล่าวภายหลังการนำกำลังไปรื้อถอนเต็นท์ดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาทางจังหวัดได้นำชุดเฉพาะกิจเข้าไปทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบริเวณพื้นที่ดังกล่าวไปแล้ว 1 ครั้ง เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการบุกรุกสร้างสิ่งปลูกสร้าง เช่น เพิงปรุงอาหาร ห้องสุขา เป็นต้น บนชายหาด ทำให้ชายหาดขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย รกรุงรัง แต่ปรากฏว่ายังคงได้รับการร้องเรียนอีกว่า ยังมีผู้นำเต็นท์ผ้าใบไปติดตั้งใหม่อีกประมาณ 2-3 หลังในพื้นที่เดิม จึงได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ลงไปทำการรื้อถอน และหลังจากนี้ก็จะได้ดำเนินการจัดระเบียบชายหาดตามนโยบายของจังหวัดต่อไป
“หลังจากนี้ก็จะได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อมาดูแลเรื่องการจัดระเบียบชายหาด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเกิดขึ้นใหม่อีก ส่วนกรณีของชาวบ้านที่มีการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพอยู่บริเวณชายหาด เช่น นวดชายหาด เป็นต้น ก็จะได้มีการประชุมหารือเพื่อจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพต่อไป”
นายตรี กล่าวด้วยว่า การดำเนินการของทางจังหวัดนั้นไม่ได้ดำเนินการเฉพาะชายหาดใดชายหาดหนึ่ง แต่จะเข้าไปดำเนินการในทุกชายหาดที่มีปัญหา แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เบื้องต้นเริ่มด้วยการชี้แจงทำความเข้าใจ แต่หากยังไม่ปฏิบัติตามก็จำเป็นที่จะต้องว่ากันตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เนื่องจากภูเก็ตเราขายความเป็นธรรมชาติโดยเฉพาะหาดทรายชายทะเล
ด้านนายสุวิทย์ พงษ์กฐิน อายุ 44 ปี เจ้าของร้านค้าริมชายหาดที่ถูกรื้อถอน กล่าวว่า ตนและพี่น้องตระกูล “พงษ์กฐิน” ได้เข้ามาทำมาขายของให้แก่นักท่องเที่ยวตั้งแต่ปีพ.ศ.2504 ซึ่งขณะนี้บิดาของตนเป็นคนขาย จากนั้นบิดาของตนได้เสียชีวิตลง ตนก็ได้เข้ามาขายต่อไป จนถึงปัจจุบันนี้กว่า 33 ปี ซึ่งในอดีตตำบลกะรน ยังไม่ได้เป็กนแหล่งท่องเที่ยวเหมือนทุกวันนี้ มีเพียงบังกะโลเล็กๆ 3 แห่ง เท่านั้น ถนนหนทางที่จะไปตำบลป่าตอง ก็ต้องเดินเลาะไปทางชายหาด ไม่มีถนนเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งขณะนี้การท่องเที่ยวของหาดกะรนบูม มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก ธุรกิจโรงแรมก็เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการท่องเที่ยว จนกระทั่งปี 2550 โรงแรมเซ็นท่าร่า แกรนด์บีช รีสอร์ท ต.กะรน มาก่อสร้าง ก็อ้างว่าร้านค้าของตนบดบังทัศนีย์ภาพหน้าหาด
และเมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เข้ามาจู่โจมรื้อร้านค้าของตนออกไป โดยไม่มีการเจรจราและไม่มีการพูดคุยกับตนแต่อย่างใด ตนพยายามที่จะขอความยุติธรรม ขอเหตุผล แต่เจ้าหน้าที่ทั้งหมดไม่ยอมพูด ได้แต่ตั้งหน้าตั้งตารื้อ ซึ่งตนก็ได้แจ้งความไว้ที่สภ.ฉลอง ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ แต่ขณะนี้เรื่องก็ยังไม่คืบหน้า
“ตนไม่รู้จะไปพึ่งใคร เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐมารังแกประชาชนเสียเอง” หน่วยงานในจังหวัดภูเก็ตเป็นอัมพาตหมดทุกหน่วยงาน แม้กระทั่งพ่อเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชน เปรียบเหมือนเป็นพ่อของคนในจังหวัด กลับมารังแกประชาชนเสียเอง เป็นคนสั่งการบัญชาการรื้อเองทั้งหมด แบบนี้ตนจะไปพึ่งใคร ตนจะไปทำมาหากินอะไร ตนไม่มีความรู้เรียนจบเพียงชั้น ป.3 ใครจะรับผิดชอบหาอาชีพให้ตนทำ หากมาคุยกันดีๆ ไม่ใช่ใช้วิธีป่าเถื่อนแบบนี้มารังแกชาวบ้าน เพื่อสนองความต้องการของนายทุน หากมาพูดคุยหาทางออก ย้ายพวกตนขายตรงอื่นและจ่ายค่าชดเชยมา ตนก็ยอมนี่ไม่เคยมีใครมาคุย
นายสุวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่รื้อถอนร้านครั้งแรก ตนก็ลงทุนด้วยเงินก้อนสุดท้ายที่มีอยู่เพียง 40,000 บาท ซื้อเก้าอี้ –เต็น-โต๊ะ-ถังใส่น้ำแข็ง มาวางขายที่เดิม ซึ่งตนจะวางขายเฉพาะหน้าไฮซีซั่นในช่วงนี้เท่านั้น ร้านค้าที่สร้างก็ไม่มีสภาพที่ถาวร รื้อออกได้ทุกเวลา กลับถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กินภาษีประชาชน เข้ามารื้อทำลายอีก ตนไม่รู้จะสู้รบกับหน่วยงานของรัฐได้อย่างไร และไม่เคยคิดแม้แต่เป็นศัตรูกับภาครัฐ ตนขอเพียงแต่ความยุติธรรม อยากถามว่าความยุติธรรมในบ้านเมืองนี้มีบ้างหรือเปล่าหรือกฎหมายมีไว้รังแกคนจน แม้แต่นายทวี ทองแช่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกะรน เป็นคนที่ชาวบ้านเลือกมา ก็ไม่ยอมยืนข้างชาวบ้าน ยังเข้าข้างนายทุน ยังบอกว่าหากสร้างอีกเขาก็มารื้ออีก ตนคิดว่า “ความยุติธรรมมันหายากยิ่งกว่าทองเสียอีก ตนคิดว่าการรังแกแบบนี้มันเลวร้ายกว่าคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเสียอีก เพราะสึนามิถล่มแล้วจากนั้นยังมีความสดใสในวันต่อไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น