จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ป.ป.ท.ตรวจสอบโฉนดที่ดินป่าสงวนฯ เทือกเขานาค



เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2555 พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ท. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินจังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ร่วมตรวจสอบสภาพพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา ซ.น้ำตกกะทู้ 6 ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต
เพื่อตรวจวัดพื้นที่ที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ไปแล้วว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ของระเบียบกฎหมายหรือไม่อย่างไร และมีจำนวนมากน้อยเพียงใด หลังจากมีการตรวจสอบในเบื้องต้นและพบว่ามีอดีตรอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต-บุตรสาวอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ถือครองกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 7 แปลง เนื้อที่กว่า 100 ไร่และพยายามจะออกเอกสารสิทธิ์อีกกว่า 10 แปลง เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าโซนซีหรือป่าอนุรักษ์


จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ตที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ปรากฏว่าเป็นพื้นที่ป่าที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย 1.โฉนดที่ดินเลขที่ 12735 และ 12736 เลขที่ดิน 13 และ 14 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื้อที่กว่า 14 ไร่ ระบุชื่ออดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยเป็นการออกจาก ส.ค.1 เลขที่ 192 เนื้อที่ 6 ไร่ 2.โฉนดที่ดินเลขที่ 13896 และ 13897 เลขที่ดิน 12 และ 27 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื้อที่กว่า 14 ไร่ ระบุชื่อบุตรสาวอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยและคนสนิท โดยออกจาก ส.ค.1 เลขที่ 215 เนื้อที่กว่า 15 ไร่ 


โดยผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการออกโฉนดที่ดินแทนบุคคลทั้ง 2 คือ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ต่อมาได้มีการขายโฉนดดินเลขที่ 17897 ให้อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต 3.โฉนดที่ดินเลขที่ 14283 เลขที่ดิน 7 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื้อที่กว่า 20 ไร่ออกจาก ส.ค.1 เลขที่ 81 เนื้อที่ 15 ไร่ รวมที่ดินจำนวนกว่า 48 ไร่ โดยจากรายงานรังวัดของช่างรังวัด สำนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต ระบุโฉนดที่ดินทุกแปลงมีการทำประโยชน์ปลูกผลไม้ เช่น สะตอ ทุเรียนเต็มแปลง และคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินระบุในรายงานว่าได้ปลูกผลไม้พื้นเมือง เช่น ทุเรียน จำปาดะ ยางพาราปะปนกับไม้ธรรมชาติ จากนั้นได้นำเรื่องแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตสมัยนั้น ซึ่งไม่ขัดข้องที่จะออกโฉนดที่ดินให้ผู้ขอออกโฉนด 


พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวภายหลังลงพื้นที่ว่า จากการตรวจของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. พบว่าที่ดินที่มีการขอออกเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวเป็นป่าดิบชื้น ไม่พบสวนผลไม้ตามที่มีการรายงานการรังวัด มีสภาพเป็นป่าเกือบ 100% และเป็นป่าต้นน้ำ ไม่มีการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด การรายงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว จึงเป็นการรายงานเท็จและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินดังกล่าวจำนวน 3 แปลง รวม 13 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต 4 คน ปลัดอำเภอกะทู้ 3 คน เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต 3 คน เจ้าหน้าที่ป่าไม้อีก 2 คนและเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินอำเภอกะทู้อีก 1 คน 


“ตามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ จะพบว่าที่ดินแปลงนี้ไม่มีการครอบครองและทำประโยชน์มาก่อน จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาแจ้ง ส.ค.1 เพราะหลักเกณฑ์ในการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ต้องเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คือ ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 25497 และที่ดินแปลงนี้ไม่สามารถนำมาออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะไม่มีการครอบครองและทำประโยชน์อยู่จริง จึงต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ซึ่งในเรื่องนี้จะต้องแจ้งกรมที่ดินเพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน และแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต สั่งการให้จำหน่าย ส.ค.1 ออกจากทะเบียนรับแจ้งการครอบครอง” 


พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีที่ดินอีก 4 แปลงที่มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบบนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา หรือที่เรียกว่า ส.ค.1 บวม เนื้อที่กว่า 20 ไร่ โดยผู้ลงนามอนุมัติให้ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวคือ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกโฉนดจำนวน 4 แปลงนี้ ประกอบด้วย อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตอีก 6 คน ซึ่ง ป.ป.ท.จะได้ดำเนินคดีทางอาญากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินทุกคนอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการปราบปรามและเป็นการป้องปรามเจ้าหน้าที่ที่คิดจะกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบควบคู่กันไป 


พ.ต.อ. ดุษฎี กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสภาพพื้นที่และข้อมูลหลักบานต่างๆ พบว่าการออกเอกสารดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง เพราะพื้นที่อยู่ในเขตป่าคุ้มครองและเขตป่าอนุรักษ์โซนซี แต่ก็ต้องสืบสวนกันต่อไป นอกจากนั้นยังพบว่าการออกโฉนดที่ดินเป็นแผนประทุษกรรมที่มีการพยายามครอบครองที่ดินด้วยการใช้ ส.ค. 1 แต่พอดูจากสภาพพื้นที่จริงแล้ว พบว่าไม่มีการทำประโยชน์มาก่อน จากการตรวจสอบสืบเนื่องจากการลงพื้นที่คราวก่อน พบว่ามีที่ดินประมาณ 20 กว่าแปลง เนื้อที่รวมกว่า 200 ไร่ บนบริเวณเขากะทู้ที่มีการพยายามจะออกเอกสารสิทธิ์ ปัจจุบันมีออกเอกสารไปแล้ว 7 แปลง ในขั้นต่อไปนั้น ทาง ป.ป.ท. จะประสานไปยังอธิบดีกรมอุทยานฯ และดีเอสไอ เพื่อให้ดำเนินการผู้เกี่ยวข้องในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า ส่วนทาง ป.ป.ท.จะทำการสอบสวนกรณีของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนในการออกเอกสารสิทธิ์ในระดับผู้อำนวยการลงมา หากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีตำแหน่งที่สูงกว่านั้นก็จะส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินการต่อไป 


“จากการที่ได้เข้ามาตรวจสอบในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต ตั้งขอสังเกตว่า การขายโอนสิทธิที่ดินนั้น มักจะทำกันที่ต่างประเทศ เพื่อหลบหนีการตรวจสอบ ซึ่งทาง ป.ป.ท.จะทำการตรวจสอบต่อไป เพราะจากการสอบสวนในปัจจุบันทำให้ ป.ป.ท. สามารถขยายผล และพบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบเป็นลูกโซ่จากที่ดินแปลงหนึ่งไปยังที่ดินอีกแปลงหนึ่งด้วย” 


พ.ต.อ.ดุษฎีกล่าว อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนการขึ้นไปตรวจสอบพื้นที่ของ พ.ต.อ.ดุษฎี ได้มีกลุ่มชาวบ้านจากแหลมสิงห์ ต.กมลา อ.กะทู้ ได้มามอบช่อดอกไม้ให้แก่ พ.ต.อ.ดุษฎี เพื่อขอบคุณที่ช่วยให้ชาวบ้านได้ทำกินในพื้นที่บริเวณหาดแหลมสิงห์ จากกรณีที่ ปปท. ได้ลงตรวจสอบพื้นที่หาดแหลมสิงห์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และเป็นผลทำให้เจ้าของที่ดินบริเวณหน้าหาดอนุญาตให้ชาวบ้านประกอบอาชีพได้ตามเดิม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น