จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

ภูเก็ตกำหนดกลยุทธ์ 3 วัน 3 สัปดาห์ 3 เดือน



เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556 ที่ห้องประชุมอาคารศูนย์ประชุมกลุ่มจังหวัดอันดามัน ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุม เร่งรัดมาตรการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายอำเภอเมือง อำเภอกะทู้ อำเภอถลาง คณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อสม.แต่ละตำบล และหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าร่วม 


นายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกระดับประเทศปีนี้คาดว่ามีความรุนแรง ซึ่งข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 เมษายน 2556 พบผู้ป่วยทุกจังหวัด จำนวน 22,495 ราย อัตราป่วย 35.4 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,000 – 1,500 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2555 ถึง 4 เท่าตัว เสียชีวิต 25 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.11 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน และวัยเรียน 


“สำหรับจังหวัดภูเก็ต ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต มีรายงานผู้ป่วยยืนยันไข้เลือดออก จำนวน 323 ราย สูงกว่าในห้วงเดียวกันในปี 2555 ถึง 6.4 เท่าตัว อัตราป่วย 93.6 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กชาวพม่า พบผู้ป่วยกระจายทุกอำเภอและเกือบทุกตำบล โดยอำเภอถลางมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาเป็นอำเภอกะทู้และอำเภอเมืองภูเก็ต ผลการสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลาย พบมีลูกน้ำยุงลายในภาชนะน้ำขังในบ้านและบริเวณบ้านสูงเกินเกณฑ์ทุกพื้นที่ บ่งบอกว่าบ้านของคนภูเก็ตจำนวนมากเป็นที่พักอาศัยของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกมาสู่คน” นายแพทย์บัญชากล่าว 


ด้านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงาน ชุมชน และทุกภาคส่วน รณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มแข็ง โดยใช้กลยุทธ์ 3 วัน 3 สัปดาห์ 3 เดือน ได้แก่ 3 วันแรก รุกรบ ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อสกัดการแพร่เชื้อภายใน 3 วัน, 3 สัปดาห์ เร่งรัด เมื่อมีรายงานผู้ป่วยเร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และยุงตัวแก่ติดต่อกันภายใน 3 สัปดาห์, 3 เดือน รณรงค์ ทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์เข้มข้นต่อเนื่องจนครบ 3 เดือน 


รวมทั้งสร้าง “คุณ นะ ทำ” ให้เป็นกิจนิสัย ด้วยมาตรการ “5 ป. + 1 ข. ปราบยุงลาย” ได้แก่ 1.ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ 2.เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง 3.ปล่อยปลาหางนกยูงหรือปลากินลูกน้ำ ลงในอ่างบัวหรือที่กักเก็บน้ำไม่มีฝาปิด 4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 5.ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และ 1 ข.ขัดล้างภาชนะที่ใช้กักเก็บน้ำ เพื่อทำลายไข่ยุงลายที่เกาะติดกับภาชนะน้ำขังต่างๆ


นอกจากนี้ประชาชนต้องป้องกันตนเองไม่ให้ยุงลายกัดทั้งคนปกติและคนป่วย โดยการใช้ยาทากันยุง หรือใช้กลิ่นของสมุนไพรไล่ยุง เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น และหากสงสัยว่าบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอยเกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เบื่ออาหาร อาเจียน มีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาแก้ไข้ ยาแก้ปวดเมื่อย เพราะจะทำให้มีเลือดออกในอวัยวะภายใน อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ 


ทั้งนี้นายไมตรี ยังกล่าวอีกว่า ความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วน โดยกลยุทธ์ 3 วัน 3 สัปดาห์ 3 เดือน อย่างเข้มข้น กำหนดดีเดย์ 3 วันแรก ในวันที่ 24 – 26 เมษายน 2556 พร้อมทั้งสร้างนิสัย “คุณ นะ ทำ” ด้วยมาตรการ “5 ป. + 1 ข. ปราบยุงลาย” อย่างต่อเนื่อง จะสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และทำให้ชุมชน ปลอดลูกน้ำยุงลายและห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกได้อย่างยั่งยืน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น