จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

กทพ.ฟังความเห็นทำทางพิเศษอุโมงค์ กะทู้-ป่าตอง



เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 ที่ห้องพระพิทักษ์แกรนด์บอลรูม โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียด โครงการทางพิเศษ สายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต (อุโมงค์ป่าตอง) ซึ่งทางการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดขึ้น 


เพื่อเป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการ นำเสนอข้อมูล ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษา และแนวทางการศึกษา รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อคณะผู้ศึกษาจะได้รวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ ไปพิจารณาวิเคราะห์เพื่อดำเนินการโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในท้องถิ่นต่อไป โดยมี น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหาร กทพ. หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ต.ป่าตอง, ต.กะทู้ อ.กะทู้ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก 


นายอัยยณัฐ กล่าวว่า โครงการพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง เกิดจากมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 3/2555 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 ที่จังหวัดภูเก็ต เห็นชอบในหลักการโครงการอุโมงค์ลอดเข้าหาดป่าตอง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาจราจร โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมและให้เทศบาลเมืองป่าตองหรือท้องถิ่นใกล้เคียงในการพิจารณากำหนดสัดส่วนเงินสมทบในการลงทุนก่อสร้างอุโมงค์ 


รวมทั้งการกำหนดแนวทางการลงทุนภาครัฐและเอกชน และการกำหนดอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการผ่านทางที่เหมาะสม โดยมอบหมายให้ กทพ.เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางจากตัวเมืองภูเก็ตไปยังหาดป่าตองจำเป็นต้องตัดผ่านภูเขา ซึ่งมีสภาพจราจรติดขัดมาก อีกทั้งยังเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ฝนตก จนทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อันเป็นแหล่งรายได้หลักที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตและของประเทศ 


“โดย กทพ.ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเซี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นท์ จำกัด บริษัท ดีทู คอนซัลท์ เอเชีย จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดอุโมงค์ลอดเขาป่าตอง รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงข่ายทางพิเศษส่วนต่อเชื่อมจากทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง ไปยังอำเภอเมืองภูเก็ต เพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ โดยมีระยะเวลาศึกษาและออกแบบรายละเอียด 15 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2556 ถึง วันที่ 14 พ.ค.2557 ใช้งบศึกษาประมาณ 30 ล้านบาท” 


นายอัยยณัฐ กล่าวด้วยว่า จากการศึกษาแนวทางเลือกของโครงการ ซึ่งมี 7 แนวทาง ปรากฏว่าทางเลือกที่ 2 มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยมีจุดเริ่มต้นที่ถนนผังเมืองรวมสาย ก. บริเวณใกล้อาคาร APK Resort จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อถึงประมาณ กม.0+370 ถนนจะเริ่มแยกออกจากกันเข้าสู่ช่วงโครงสร้างอุโมงค์ลอดใต้เขานาคเกิด และสิ้นสุดอุโมงค์ที่ กม.1+970 รวมความยาวอุโมงค์ประมาณ 1,600 เมตร โดยมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 4029 ประมาณ กม.0+850 รวมความยาวทั้งสิ้น 3.07 กิโลเมตร เป็นอุโมงค์ 4 ช่องทางจราจรไป - กลับ มีเลนจักรยานยนต์ และมีช่องทางในการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ป่าตองได้หากเกิดคลื่นสึนามิด้วย 


อย่างไรก็ตามนายอัยยณัฐ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ในช่วงเดือน ส.ค. 56 จะมีการรับฟังความคิดเห็นอีกหนึ่งคครั้ง เพื่อสรุปข้อมูลทั้งหมดเสนอขอความเห็นชอบโครงการต่อกระทรวงคมนาคมในช่วงปลายปี 2557 ตามแผนที่วางไว้ในช่วงต้นปี 2558 จะอยู่ในขั้นตอนการหาผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างโครงการ ซึ่งการก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 3 - 4 ปี ส่วนงบประมาณการก่อสร้างเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท


โดย กทพ.จะใช้เงินกู้ในการดำเนินการ และใช้งบประมาณจากรัฐบาลอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ในการเวนคืนที่ดินของประชาชนที่ชุมชนบ้านมอญประมาณ 20 ราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง ขณะที่การจัดเก็บค่าผ่านทางนั้นอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา แต่คาดว่าจะไม่น่าจะเกิน 20 - 50 บาทต่อเที่ยวสำหรับรถยนต์ และรถจักรยานยนต์คันละ 10 -20 บาท เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากภาระดังกล่าว 


ด้านนายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวว่า สำหรับการจัดทำโครงการดังกล่าวมีประชาชนกว่า 90% เห็นด้วย แต่ยอมรับว่าหากมีการก่อสร้างเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนบางส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทางออกของอุโมงค์ฝั่งป่าตองจะอยู่ใกล้กับชุมชนบ้านมอญ และชาวบ้านก็มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิต นอกจากนี้ยังมีเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวบ้าน เพราะหากมีการดำเนินการเกิดขึ้นก็ต้องมีการขอเวนคืนที่ดินของประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว 


ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องค่าเวนคืนที่เหมาะสมและเป็นธรรม การป้องกันผลกระทบที่เกิดจากเสียง การจัดเก็บค่าผ่านทาง รวมทั้งจะต้องมีการเปรียบให้เห็นความแตกต่างของการใช้เส้นทางเดิมกับเส้นทางใหม่ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ เช่น ค่าสึกหรอเครื่องยนต์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น จะต้องทำให้เห็นชัด ส่วนของเส้นทางเดิมนั้นซึ่งยังคงใช้งานได้เหมือนเดิม และจะมีการปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม


ขณะที่นายธัชพล ขมิ้นทอง ประชาชนผู้มาร่วมรับฟังคำชี้แจง กล่าวว่า เนื่องจากบริเวณทางออกอุโมงค์จะมีที่ดินของเครือญาติอยู่ด้วย ดังนั้นจึงอยากสอบถามว่า การสร้างอุโมงค์ป่าตองนั้นเป็นทางเลือกสุดท้ายแล้วใช่เรือไป เพราะมองว่าเมื่อมีการสร้างทางพิเศษก็จะต้องมีการเรียกเก็บค่าผ่านทาง เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มภาระให้กับท้องถิ่นต่างๆ ในการที่จะสมทบงบประมาณในการก่อสร่างอีกด้วย ทั้งๆ ที่ภูเก็ตทำรายได้ให้กับรัฐบาลปีละมหาศาล แต่ยังต้องมาผลักภาระให้กับคนภูเก็ตอีก และก่อนหน้านี้ได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาแล้วหลายครั้งแต่ก็ยังไม่เกิด ครั้งนี้ให้ กทพ.ศึกษาซึ่งใช้เวลา 15 เดือน แล้วโครงการจะเกิดได้หรือไม่ จะเป็นการเสียงบประมาณเหมือนกับที่ผ่านมาหรือไม่ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น