จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

ดึงครอบครัวมามีส่วนร่วมแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด



เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ที่ห้องสวนหลวง โรงแรมคาทีน่า อ.เมืองภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการพ่อแม่อาสานำพาเยาวชนคนดีสู่ครอบครัว ซึ่งทางสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น 


โดยมี นางนริศา ปานสะอาด ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต นางปุณยวีร์ ทองศิริเศรษฐ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต นางพิมพร ขอศานติวิชัย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และอาสาคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต และผู้เข้าร่วมโครงการฯ เข้าร่วม 


ทั้งนี้นางนริศา ปานสะอาด ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวว่า สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ต ได้สำรวจตามแบบรายงานสถานการณ์ทางสังคมของท้องถิ่น (อปท.1) พบว่า ปัญหาสังคมของจังหวัดภูเก็ตที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน คือ ปัญหาเด็กและเยาวชนเสพยาเสพติด สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาครอบครัว สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีภารกิจหลักในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน ปัจจุบัน มีผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 382 ราย ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด 


ทางสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลเด็ก และเยาวชนตามวัย รวมทั้งให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย สมาชิกในครอบครัว ได้แก่ พ่อแม่ ญาติ คู่สมรส รวมทั้งบุคคลใกล้ชิด เช่น นายจ้าง ครู อาจารย์ หรือเพื่อน ซึ่งผู้กระทำผิดให้ความเคารพนับถือ จำนวน 200 คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัดภูเก็ต เป็นเงิน 65,000 บาท และได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต 


ด้านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ผู้ปกครองนับว่ามีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด หรือมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน เพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด และรู้พฤติกรรมของเด็กและเยาวชนดีที่สุด อีกทั้งเป็นบุคคลที่เด็กและเยาวชนให้ความเคารพนับถือ การจัดโครงการพ่อแม่อาสานำพาเยาวชนคนดีสู่ครอบครัวในครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นให้ผู้ปกครองมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการดูแลเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้แก้ปัญหาให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และไม่เป็นปัญหาของสังคมอีกต่อไป 


“การที่เด็กเยาวชนทำผิดไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรืออบายมุขต่างๆ ส่วนใหญ่มาจากปัญหาในครอบครัว เพราะเรายังให้ความอบอุ่นแก่ลูกหลานไม่เต็มที่ คำว่าอบอุ่น เอ็นดู เอาอก เอาใจ ยังไม่มีในครอบครัว ครอบครัวอ่อนแอ จึงเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ลูกหลานของเราหลงผิด ไปยุ่งเกี่ยวกับสื่อ เช่น ติดเกม ไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เสพสุรา เสพยาเสพติด เป็นต้น 


และนอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการทำตัวเป็นเด็กแนว รวมแก๊งรวมกลุ่ม เป็นแก๊งซ่าต่างๆ เช่น แก๊งมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น และยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับทางเพศสูง ตั้งท้องก่อนวัยอันควร ซึ่งประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี มีความเสี่ยงกับเรื่องนี้สูง ตั้งท้องก่อนวัยอันสมควรกว่าแสนคนต่อปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ครอบครัวต้องให้ความสำคัญแก่ลูกหลาน หันมาสนใจลูกหลานของตนเองให้มากขึ้น” นายไมตรี กล่าวในที่สุด 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น