จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

ไทย-มาเลย์ พร้อมร่วมมือสร้าง rubber city



เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 ที่ห้องลากูน โรงแรม ฮิลตัน ภูเก็ต อาเคเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ถึงแถลงความร่วมมือระหว่างตัวแทนรัฐบาลและภาคเอกชนของไทยและมาเลเซียในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนของสองประเทศให้เป็นเขตอุตสาหกรรมยางพาราหรือ rubber city เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากรทั้งสองประเทศ 


นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศมาเลเซียนั้นได้มีการดำเนินโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมยางพาราโดยรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ก่อตั้งที่บริเวณชายแดนบ้านประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ในพื้นที่ประมาณ 6 พัน 5 ร้อยไร่ โดยมีการสร้างปัจจัยพื้นฐาน การสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า แหล่งพลังงาน เพื่อจัดตั้งเป็นพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรมยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานถุงมือยาง ซึ่งทางมาเลเซียมีความชำนาญ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้นักลงทุน ทั้งจากประเทศไทย และประเทศอื่นได้ลงทุนด้วย 


ขณะที่การก่อสร้างในประเทศไทยอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะใช้พื้นที่ชายแดนเช่นกัน แต่เป็นพื้นที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือบริเวณนิคมอุตสาหกรรมฉลุง ใกล้กับ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมีพื้นที่เหลือมากพอที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยางเพิ่มเติมได้และสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที แต่จะต้องรอความเห็นจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบมาประกอบด้วย


ซึ่งหากมีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานที่ก็จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบในการก่อสร้างคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ โดยใช้เงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาท และใช้เนื้อที่กว่าหมื่นไร่ เบื้องต้นมีภาคเอกชนจากต่างประเทศ เช่น จีน อิตาลี เป็นต้น ได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมยางพาราของไทยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ผลิตยางรถยนต์ 


นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า หากสามารถสร้างนิคมอุตสาหกรรมยางพาราได้ ก็จะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะจะก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น รวมถึงเรื่องความมั่นคงด้วย ทั้งนี้ทางประเทศมาเลเซียได้ขอความร่วมมือให้รัฐบาลไทยอำนวยความสะดวกในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมยางพาราของมาเลเซียจำนวนกว่า 3 หมื่นคน รวมถึงให้อำนวยความสะดวกในการจัดส่งวัตถุดิบด้วย 


อย่างไรก็ตามนายยุทธพงศ์ ได้กล่าวถึงผลสำเร็จในการจัดประชุมยางพาราอาเซียนระหว่างในวันที่ 10 -12 เมษายน 2556 รวม 3 วัน ว่า ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจและนักลงทุนด้านยางพารา รวมถึงภาคเกษตรกรทั้งจากประเทศไทยสมาชิกอาเซียน และนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย มาร่วมพบปะหารือและซื้อขายยางพารา ซึ่งภาคเอกชนของไทยสามารถลงนามบันทึกความร่วมมือในการส่งออกยางได้กว่า 8 แสนตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มาก 


ขณะเดียวกันยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการพัฒนายางพาราให้ได้ปริมาณและมีคุณภาพมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันในระหว่างการจัดประชุมยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นจนทำให้ราคายางพาราของไทยปรับตัวสูงขึ้น 3 บาท ต่อกิโลกรัมอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างดี และถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของเกษตรกรด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น